เอกชนมองทิศทางราคายางเริ่มเป็นขาขึ้น หลังศก.ประเทศรายใหญ่ฟื้น ดันดีมานด์พุ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2013 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือระหว่างภาครัฐร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อแก้ปัญหาราคายางพารา พบว่า ทุกฝ่ายประเมินตรงกันว่าสถานการณ์ราคายางในขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้น จากที่ราคาเคยลงไปต่ำสุดที่ กก.ละ 60 บาท ล่าสุดราคาเริ่มขยับขึ้นมาแล้ว โดยราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ กก.ละ 75-76 บาท ส่วนยางแผ่นรมควันอยู่ที่ กก.ละ 80 บาท

ทั้งนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมยางพาราในขณะนี้ขึ้นกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อจีน, สหรัฐ และยุโรปเริ่มฟื้นตัว จะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ ในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และจะช่วยทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยชี้ว่าเหตุที่ราคายางในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลงไม่ได้เป็นผลมาจากปริมาณสินค้าล้นตลาด แต่เป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี พร้อมแนะให้เกษตรกรระมัดระวังการระบายสินค้าโดยต้องหาจังหวะที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่เห็นว่าราคาดีก็รีบนำออกมาขาย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาแกว่งตัวได้

สำหรับมาตรการที่ได้หารือกับภาคเอกชนในวันนี้ ในส่วนของต้นน้ำนั้น ภาครัฐจะช่วยดูแลเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ส่วนกลางน้ำ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปดูแลเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้มากขึ้น เช่น ใช้ในการก่อสร้างถนน แผ่นยางปูพื้น เป็นต้น ส่วนปลายน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องของการส่งออกนั้น เชื่อว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีของไทยและนายกรัฐมนตรีของจีนได้มีโอกาสหารือกันแล้ว ภาคเอกชนจะไปสานต่อการเจรจา เพื่อขยายปริมารการนำเข้ายางของจีนให้เพิ่มขึ้น

"ตลาดยางพาราไม่มีปัญหาในเชิงปริมาณ แต่ราคาขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ" รมช.พาณิชย์ กล่าว

พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์จะพิจาณาการเพิ่มประเภทของยางพาราเพื่อเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า(AFET) มากขึ้น เพราะเชื่อว่าหากนำสินค้ายางเข้าไปซื้อขายใน AFET ก็จะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นด้านราคาและช่วยให้ราคาสามารถชี้นำตลาดได้

นอกจากนี้จากการรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการและผู้ผลิตสินค้าที่เกี่ยวกับยางพาราในแต่ละอุตสาหกรรม ก็พบว่าผู้ประกอบการต่างพร้อมจะเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ

ด้านนายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศอยู่ที่ราว 5 แสนตัน จากกำลังการผลิตรวมกว่า 3 ล้านตัน ซึ่งเชื่อว่าหลังจากมีมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศไปแล้ว คาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 8-9 แสนตันในปี 57 และในปี 58 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตันได้

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาโครงการของภาคเอกชนที่กำลังอยู่ระหว่างขอรับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนที่จะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะต้องรอให้มีความชัดเจนก่อน ทั้งนี้คาดว่าในเร็วๆน นี้จะมีการเชิญผู้ประกอบการมาหารืออีกครั้งว่าจะมีแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบอย่างไร รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนในด้านใดบ้าง

ด้านนายประชัย กองวารี นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย เชื่อว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางจากปัจจุบันที่ใช้วัตถุดิบอยู่ในระดับ 3 แสนตันมาเป็น 5 แสนตันได้ โดยจะไม่มีปัญหาสินค้าล้นตลาดแน่นอน เพราะถุงมือยางที่มีการใช้ในวงการแพทย์แล้ว ยังมีการใช้ถุงมือยางในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอาหารด้วย พร้อมกันนี้ยังเชื่อว่าราคายางพาราในอนาคตจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจของโลกจะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้แนวโน้มราคายางพาราปรับตัวดีขึ้น

ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ CEO บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ(IRco) กล่าวว่า ได้หารือกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่ต่างมีความเห็นตรงกันว่าทิศทางราคายางพาราจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3-4 ปีนี้แน่นอน เพราะเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่เดือนส.ค.แล้ว หลังจากเศรษฐกิจของจีน, ยุโรป และสหรัฐฯ ฟื้นตัว ซึ่งโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยอดขายรถยนต์ในเดือนส.ค.โตถึง 17% ซึ่งเชื่อว่าความต้องการใช้ยางล้อจะมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียและมาเลเซียระบุว่าพร้อมจะให้ความร่วมมือหากสถานการณ์ราคายางพารายังไม่มีเสถียรภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ