SCB มองราคายางผ่านจุดต่ำสุด คาดฟื้นตามศก. แต่คงไม่ถึง 120 บ./กก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2013 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ราคายางพาราได้ผ่านพ้น “จุดต่ำสุด" ไปแล้ว โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาส่งออกยางพาราไทยได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาส่งออกยางพาราไทยได้ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ราคาส่งออกยางแท่งของไทยในเดือนกรกฎาคม 2013 อยู่ที่ 69 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนับเป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 (ไทยมีปริมาณการส่งออกยางแท่งคิดเป็น 39% ของปริมาณการส่งออกยางพารารวม) โดยราคาส่งออกที่ปรับลดลงดังกล่าว ส่งผลให้ราคายางก้อนถ้วย(วัตถุดิบต้นน้ำที่ใช้ผลิตยางแท่ง) ที่เกษตรกรได้รับปรับตัวลดลงตามไปด้วย จาก 81 บาทต่อกิโลกรัมในเดือน ม.ค. มาอยู่ที่ 64 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือน ก.ค. หรือปรับตัวลดลงราว 21%

แต่ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาส่งออกยางแท่งอยู่ที่ 79 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 14% ในขณะที่ราคายางก้อนถ้วยที่เกษตรกรได้รับอยู่ที่ 71 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค. 20%

จากข้อมูลพบว่า ภาคการผลิตของจีนมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (HSBC PMI) ของจีนล่าสุดในเดือน ส.ค. ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ 47.7 ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรโซนก็เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น (ดูรูป 4) ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราของจีนและโลกปรับตัวดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง (ล่าสุดราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 7.8% จากเดือน ก.ค.) ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่สำคัญของโลก และความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น่าจะช่วยเอื้อให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม SCB EIC มองว่า ราคาส่งออกยางพาราของไทยไม่น่าจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ชาวสวนยางเรียกร้อง โดย EIC มองว่าราคาส่งออกยางแท่งของไทยน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 105-110 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้ราคายางก้อนถ้วยที่เกษตกรได้รับอยู่ที่ราว 97-102 บาทต่อกิโลกรัม(ราคาที่เกษตรกรได้รับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการยกเลิกการเก็บเงินสงเคราะห์ยางพารา (Cess))

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ EIC มองว่าราคายางพาราไม่น่าจะสามารถปรับตัวไปอยู่ที่ระดับ 120 บาทต่อกิโลกรัม คือ ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีมากกว่าความต้องการบริโภค โดยปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคอีสาน ภาคเหนือและภาคกลางของไทยที่มีการขยายตัวอย่างมากในปี 2007 สามารถเริ่มเปิดกรีดได้ ประกอบกับผลผลิตยางพาราของอินโดนีเซียและมาเลเซียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจากข้อมูลของ International Rubber Study Group (IRSG) พบว่า ในปี 2013 ผลผลิตยางพาราโลกมีมากกว่าการบริโภคอยู่ราว 3 แสนตัน แต่อย่างไรก็ดี หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง และภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างที่คาดการณ์ไว้ ราคายางพาราก็อาจจะไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามที่ได้คาดการณ์

ทั้งนี้ เอกชนไทยควรพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราขั้นสูงขึ้นในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางพาราแปรรูปขั้นต้น ผลผลิตยางพาราของไทยกว่า 90% เป็นการส่งออกในรูปของยางพาราแปรรูปขั้นต้น ซึ่งราคามีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปราว 30,000 ล้านบาท ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางพารา เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง มีความผันผวนในระดับต่ำ เห็นได้จากราคาส่งออกยางยานพาหนะของไทยในช่วง 7 เดือนแรกที่ปรับตัวลดลงเพียง 5% ในขณะที่ราคาส่งออกยางพาราแปรรูปขั้นต้นปรับตัวลดลงถึง 21% ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตยางพาราไทยและลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางพารา ภาครัฐและเอกชนไทยควรร่วมมือกันเพื่อที่จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางพาราขั้นสูงขึ้นในประเทศและส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเหล่านั้น ทดแทนการส่งออกยางพาราแปรรูปขึ้นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ