ผู้ว่าธปท.แนะเร่งแก้อุปสรรคยกเครื่องศก.ไทยให้โตอย่างยั่งยืน-มีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2013 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2556 โดยแสดงความเป็นห่วงปัญหาที่แฝงอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็วจะยิ่งเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ล่าช้าขึ้น รวมทั้งลดทอนความเป็นอยู่ของประชาชนให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดความสมานฉันท์ในสังคม ดังนั้น เห็นว่าการยกเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเศรษฐกิจไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทย

การยกเครื่องเศรษฐกิจไทยจะต้องเพิ่มความสามารถการผลิตด้วยการอาศัยนวัตกรรมในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ผลผลิตมากขึ้น หรือนำมาซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตให้มากขึ้น รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการโยกย้ายทรัพยากรไปยังภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงขึ้น

“ภาคเกษตรในไทยปัจจุบันใช้แรงงาน 40% ของแรงงานทั้งหมด แต่สร้างรายได้เพียง 10% ของจีดีพี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมใช้แรงงานเพียง 15% แต่สร้างรายได้ถึง 40% ของจีดีพี บ่งบอกถึงความแตกต่างของประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของ 2 ภาคการผลิตนี้ และสะท้อนช่องว่างที่ยังเหลืออยู่การยกระดับการผลิตของประเทศให้สูงขึ้นโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคเกษตร หรือโยกย้ายแรงงานไปภาคอุตสาหกรรม" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ

ทั้งนี้ การเสริมสร้างนวัตกรรมการผลิตนี้จะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจ แต่การจะให้บรรลุการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างที่สนับสนุนการขยายตัวในระยะยาวได้นั้น จำเป็นต้องร่วมมือกันปรับปรุงระบบเศรษฐกิจในหลายด้าน

ผู้ว่าการ ธปท.มองว่า การใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคด้านอุปสงค์ เช่น นโยบายการเงินการคลังมีข้อจำกัด แก้ไขไม่ตรงจุดและไม่เพียงพอที่จะยกเครื่องเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราสูงได้ต่อเนื่อง ในทางกลับกันการกระตุ้นดังกล่าวอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินหากภาคเศรษฐกิจต่างๆ มีการใช้จ่ายเกินตัว

“หากเปรียการดูแลเศรษฐกิจเหมือนขับเครื่องบินข้ามทวีป การทำนโยบายการเงินการคลังคือการพยุงเครื่องบินให้ผ่านสภาพอากาศแปรปรวนไปได้ราบรื่น ซึ่งเป็นนโยบายการเงินที่ธปท.ทำมาตลอด รวมทั้งพยายามสื่อสารนโยบายให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อให้สามารถวางแผนกิจกรรมเศรษฐกิจได้อย่างมั่นใจ แต่หากจะให้เครื่องบินบินข้ามทวีปได้เร็วขึ้นและถึงที่หมายโดยใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ก็ต้องอัพเกรดเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญของนโยบายด้านอุปทาน" นายประสาร กล่าว

การจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงอย่างยั่งยืนต้องมาจากการผลิตที่มีศักยภาพ และที่สำคัญ การพัฒนาพื้นฐานของเศรษฐกิจให้เข้มแข็งไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับศักยภาพการผลิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาวเท่านั้น แต่จะยังช่วยรองรับแรงกระแทกต่างๆ ที่จะเข้ามารุมเร้าประเทศเป็นช่วงๆ ซึ่งนับเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพพื้นฐานที่ดี ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางอาเซียน เป็นฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายชนิด แต่วันนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากทุนดั้งเดิมที่มาควบคู่กับประเทศเราได้มากเพียงได้ เราต้องลงทุนต่อยอดเพิ่มเติมอย่างไร

พร้อมมองว่าการพัฒาเศรษฐกิจจะมาคู่กับความท้าทาย 2 ปะการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คือ การเปลี่ยนแปลง เพราะหากจะก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ ที่ขวางการพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนี้ ทุกภาคส่วนต้องพร้อมจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ประกอบการ แรงงานไทย ภาครัฐ และประชาชนโดยรวม

และความยากลำบากในการเปลี่ยนแปลง เพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจย่อมนำมาซึ่งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นจำเป็นต้องมีกระบวนการหรือสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองแบบมีส่วนร่วม โดยเน้นกลไกสำคัญคือ การกระจายผลประโยชน์หรือโอกาสระหว่างสมาชิกได้อย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการรองรับการเปลี่ยนแปลงและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้เสียประโยชน์ ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่จุดหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง

อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายผู้ว่าฯ ธปท.ได้ฝากคำถามไว้ว่า ในเมื่อเราพอจะเห็นปัญหาและหนทางแก้ไขข้อจำกัดสำคัญต่างๆ ของเศรษฐกิจได้แล้ว เหตุใดในช่วงที่ผ่านมาทั้งไทยและประเทศอื่นๆ จึงไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้นได้ จนบางประเทศประสบวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ