(เพิ่มเติม) NIDA ลดจีดีพีปี 56 เหลือ 3.7% ดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสทะลุ 1,500 จุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 26, 2013 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(NIDA) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นด้านวิชาการ NIDA’s Thailand Roadmap Series#1: "นิด้าชี้ทิศเศรษฐกิจ-การเมืองไทย โค้งสุดท้ายปี 56" โดยปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของไทยในปีนี้ลงเหลือ 3.7% จากก่อนหน้านี้ที่คาดการณ์ไว้ 4.3% ส่วนจีดีพีไตรมาส 4/56 คาดว่าจะโตได้ 4.9% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 3/56 ที่มีการชะลอตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.50% ในสิ้นปีนี้

ส่วนมุมมองทางด้านตลาดหุ้นไทยนั้น ตลาดยังรอความชัดเจนจาก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และ พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยมองว่ามองราคาหุ้นไทยยังต่ำสุดในกลุ่ม TIP(ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์) และมีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะทะลุ 1,500 จุดในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมแนะนำนักลงทุนให้กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน

"ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 2556 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานิด้าได้ประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 4.3% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ชะลอตัว จึงได้ปรับลดประมาณการลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2556 จะเติบโตได้ 3.7%" นางณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า กล่าว

นางณดา กล่าวว่า จากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคโดย NIDA Macro Forecast คาดว่าในไตรมาส 4 ปีนี้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะขยายตัว 4.9% สูงกว่าช่วงไตรมาส 3 ที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวเพียง 1.8% ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 มีปัจจัยจากการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยที่มีสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขรายได้การส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ของปี 2556 จะขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น เนื่องจาก ภาคการส่งออกที่ไม่ดีนักในช่วง 2 ไตรมาสแรกต่อเนื่องมากถึงไตรมาสที่ 3

ด้านอัตราเงินเฟ้อช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค.56 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.56 โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง โดยคาดว่าเฉลี่ยทั้งปีอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 2.5% ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.5% โดยมีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลง หากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ไม่กระเตื้องขึ้นอย่างที่คาดการณ์

ด้านนายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ นิด้า กล่าวถึงตลาดทุนในไตรมาส 4 ปีนี้ ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในขณะนี้มีทั้งปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ความชัดเจนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้เมื่อใด รวมถึงประเด็นการเมืองที่นักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2-3 การแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และการตัดสินประเด็นเขาพระวิหารต่อศาลโลก ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศนั้นยังต้องจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถึงความชัดเจนในการดำเนินนโยบาย QE รวมถึงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยในตลาดหุ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น(P/E) ของตลาดหุ้นไทยกับประเทศในกลุ่ม TIP(ไทย/อินโดนีเซีย/ฟิลิปปินส์) พบว่า ราคาหุ้นของไทยมีราคาไม่แพง และยังมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจาก P/E ของไทยอยู่ที่ 16.31 เท่า ต่ำกว่าอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในระดับ 18.92 และ 18.88 ตามลำดับ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานที่อยู่ในระดับ 18.01 โดยจากการทำแบบจำลอง Simulation เพื่อแสดงค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ สิ้นปี 2556 จะอยู่ที่ระดับ 1,513 จุด จึงมีโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม จากการทำโครงการร่วมกับ บลจ.ฟินันซ่า ถึงรูปแบบการลงทุนในไตรมาส 4 พบว่า นักลงทุนควรกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยแบ่งสัดส่วนลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 27.74% พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 30.66% หุ้นกู้ 27.67% ทอง 5.88% และคอมมอดิตี้ 8.64%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ