TMB Analytics คาดส่งออกปีนี้โตแค่ 2% ฉุดตัวเลข GDP โตเพียง 3.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2013 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ระบุถึงแม้การส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่เป็นการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จนทำให้การส่งออกของทั้งปี 56 จะขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้จะมีอัตราการเจริญเติบโตเพียง 3.1%
"สาเหตุหลักที่ส่งผลให้การส่งออกไทยขยายตัวได้น้อยกว่า 3.5% ที่เคยประมาณการไว้ มาจากการส่งออกในเดือน มิ.ย.-ก.ค.หดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้"เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่ฟื้นตัวจากไตรมาส 2 โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และจีน ที่หลายฝ่ายเคยมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยตัวเลขเบื้องต้นของสหภาพยุโรปเดือน ก.ย.อยู่ที่ 51.1 จากจุดต่ำสุดในปีนี้ที่ระดับ 46.7(เม.ย.) และเครื่องชี้ดังกล่าวในจีนฟื้นตัวมาอยู่ที่ 51.2 จากระดับต่ำสุดในปีนี้ที่ 47.7(ก.ค.) ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแต่เปราะบาง

ตัวเลขส่งออกล่าสุดในเดือน ส.ค.ที่กระทรวงพาณิชย์แถลง แสดงให้เห็นมูลค่าการส่งออกที่กลับมาขยายตัว 3.9% ซึ่งใกล้เคียงกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีได้คาดการณ์ไว้ที่ 4.1% เป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากหดตัวถึงสามเดือนติดต่อกัน เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ยากที่การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีจะเติบโตได้อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ในช่วง 4-7% นอกจากนี้ยังมองว่าใน 4 เดือนที่เหลือการส่งออกของไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 5% ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยในปีนี้อาจขยายตัวได้เพียง 2% เท่านั้น

"เครื่องยนต์ส่งออกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกประมาณ 57% ของ GDP เราจึงไม่สามารถวาดฝันให้การส่งออกช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกได้"เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อีกทั้งเมื่อดูถึงองค์ประกอบด้านอื่นที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักมาตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนได้ส่งสัญญาณชะลอลงต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ทั้งการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่หมดแรงส่งจากโครงการรถคันแรก เพราะขณะนี้ได้มีการส่งมอบรถไปแล้วกว่า 87% ของจำนวนรถในโครงการ 1.25 ล้านคัน และมีโอกาสที่ผู้จองจะยกเลิกการจองราว 10% แม้ค่ายรถต่างๆ จะออกแคมเปญดึงดูดลูกค้าเพื่อลดภาระรถค้างสต็อกก็ตาม และการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนส่อเค้าชะลอลงเช่นกัน จากความกังวลในเรื่องค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ทยอยเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 1 ปี ปรับขึ้นค่าทางด่วน 5-10 บาท และปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) อีก 7.08 สตางค์ต่อหน่วย อีกทั้งแนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 60% ของ GDP ในปี 54 จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 75% ของ GDP

ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีทิศทางแผ่วลงเช่นกันสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความหวังที่จะเห็นการลงทุนภาครัฐเข้ามาเป็นตัวช่วยรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจก็มีความเป็นไปได้น้อย ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำที่ติดปัญหาในเรื่องคำสั่งศาลปกครองนำมาซึ่งยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทำให้อย่างเร็วสุดจะเริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ภายในเดือน ธ.ค.ปีนี้ หรือล่าช้าไปจนถึงปีหน้า ฝั่งการลงทุนเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่คาดว่าจะยังไม่เห็นการเบิกจ่ายได้ทันภายในปีนี้ ซึ่งจากแรงหนุนของปัจจัยเหล่านี้ที่ถูกลดทอนไป

"ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ประเมินเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังขยายตัวได้เพียง 2.1% และทั้งปี 56 จะขยายตัวที่ 3.1% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 6.5% ในปีที่ผ่านมา" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ