สำนักวิจัย CIMBT ชี้ปมเพดานหนี้สหรัฐผ่อนคลายระยะสั้น-กระทบส่งออกไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2013 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้ปัญหาหนี้สหรัฐได้ผ่อนคลายลงหลังวุฒิสภาและสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เห็นชอบให้มีการผ่านงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ให้รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมาบริหารประเทศได้ แต่การผ่านงบประมาณและเพิ่มเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อาจเป็นข่าวดีเพียงชั่วคราว เนื่องจากสภาได้อนุมัติงบประมาณให้ใช้ได้ถึงเพียงวันที่ 15 มกราคม และเพิ่มเพดานหนี้ได้ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ปีหน้าเท่านั้น
"โอกาสที่สหรัฐจะเผชิญปัญหาเพดานหนี้ หรือการปิดหน่วยงานราชการอีกครั้งมีสูงมาก เพราะสหรัฐจะมีความยากลำบากในการปรับลดงบประมาณ เนื่องจากงบส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่รัฐให้การช่วยเหลือประชาชนตามสิทธิที่จะได้รับ เช่น การใช้จ่ายด้านสุขภาพ และประกันสังคม ขณะที่งบประมาณด้านทหาร และการบริหารประเทศอื่นๆ ถูกปรับลดมามากแล้ว"นายอมรเทพ กล่าว

ในระยะเวลาสั้นความไม่แน่นอนในการแก้ปัญหาเพดานหนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่อาจเลื่อนการตัดลดมูลค่าการซื้อพันธบัตร(QE)ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และเมื่อนโยบายการคลังยังคงมีความไม่แน่นอน นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัว โดยสำนักวิจัยฯ คาดว่าเฟดจะคงมาตรการ QE ไว้จนปัญหาการคลังเริ่มคลี่คลายในต้นปีหน้า ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงต่อไป

สำหรับผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยนั้น ไทยจะได้รับผลกระทบจากเงินลงทุนที่จะไหลกลับเข้ามาสู่ตลาดทุนอันจะส่งผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาเพดานหนี้ได้รับการแก้ไข ผู้ลงทุนจะให้น้ำหนักต่อการถอนมาตรการ QE ที่จะกดดันให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าตามเงินลงทุนที่จะไหลออกตลาดเอเชียอีกครั้งในต้นปีหน้า

นายอมรเทพ กล่าวว่า ขณะที่ในระยะยาว สหรัฐอาจมีปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้และการเจรจาด้านการปรับลดการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น อันจะเพิ่มความเสี่ยงที่ทางรัฐบาลสหรัฐอาจมีความล่าช้าในการชำระดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล และนำไปสู่ความกังวลที่สหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งผู้ที่ลงทุนในตลาดพันธบัตรสหรัฐอาจลดสัดส่วนการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง

อนึ่ง ธนาคารกลางของหลายประเทศถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยจีนมีสัดส่วนการถือพันธบัตรมากที่สุดถึงราว 23% หรือคิดเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศของจีนทั้งหมดราว 40% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีสัดส่วนการถือครองพันธบัตรราว 0.8% และในจำนวนนี้นับเป็นสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยทั้งหมดราว 25% ซึ่งเห็นว่าไทยมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่ก็น้อยกว่าจีน อีกทั้งธปท. ได้ลดสัดส่วนการถือพันธบัตรสหรัฐฯ มาต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยง

หากปัญหาการคลังสหรัฐฯ มีความยืดเยื้อ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อาจปรับลดสัดส่วนการถือพันธบัตรสหรัฐฯ มากขึ้น และอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มสูง อันสะท้อนว่าสหรัฐฯ จะต้องกู้เงินด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น และจะกระทบต่อรายจ่ายที่มากขึ้น ซึ่งจะมีเงินน้อยลงในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

"ผลทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยอีกด้านหนึ่งคือด้านการส่งออก โดยการลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ จะมีผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ซึ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีสัดส่วนราว 20% ของ GDP มีการปรับลดลง ก็จะมีผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่กำลังฟื้นตัวอยู่ในสหรัฐฯ ชะลอลงได้ จากความเชื่อมั่นในการบริโภคที่ลดลง อันมีผลต่อการนำเข้าสินค้าบริโภคจากไทย" นายอมรเทพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ