(เพิ่มเติม) "สแตนดาร์ดฯ" คาด GDP ปี 56 โต 4%, ปี 57 โต 4.3-5.5% หลังศก.โลกฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2013 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดว่า เศรฐกิจไทยปีนี้จะมีอัตราการเติบโตที่ 4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และในปี 57 คาดว่าจะขยายตัว 5.5% หากโครงการภาครัฐทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทเดินหน้า แต่หากโครงการทั้งสองไม่สามารถเดินหน้าได้ ก็คาดว่า GDP ไทยปีหน้าจะเติบโตเพียง 4.3% ขณะที่ส่งออกน่าจะขยายตัว 9% จากเศรษฐกิจโลกที่กลับมาฟื้นตัวทั้งสหรัฐและจีน

ด้านนางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) มองว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/56 ซึ่งขยายตัวเพียง 2.8% หลังจากนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยจากการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ดี ในช่วงครึ่งปีแรกมีการเติบโตถึง 37% และช่วงครึ่งปีหลังก็จะยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นฤดูการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการส่งออกก็เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ในระดับ 4%

ส่วนปี 57 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในระดับ 5.5% เนื่องจากการส่งออกน่าจะขยายตัวได้มากกว่าปีนี้ไปอยู่ที่ 9% โดยมีปัจจัยหนุนจากยอดคำขอส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง นโยบายการคลังของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาทและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% แต่หากไม่มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นอาจจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีหน้าอยู่ที่เพียง 4.3%

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25% อย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 57 ก่อนจะเริ่มดึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติต่อไป

"หาก 2 โครงการภาครัฐดำเนินการได้ตามแผน การส่งออกโตเกือบสองหลัก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งดอกเบี้ยในตลาดถือว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณ (คิวอี) ของสหรัฐ 1-2 และเชื่อว่าสหรัฐจะทยอยลดคิวอีลงในช่วงเดือนมี.ค.2557 ดังนั้นจะเห็นดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งประเมินดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะปรับขึ้นอีก 0.5-1% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% เพื่อเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 57"น.ส.อุสรา กล่าว

นอกจากนี้ ยืนยันว่าพื้นฐานเศรษฐกิจยังมีความแข็งแกร่ง แม้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยจะขาดดุลก็ตาม แต่สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงถึง 48% ของ GDP หรือ 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับอินเดียที่มี 2% อินโดนีเซียมี 10% สะท้อนว่าหากในอนาคตไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นถึง 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 1% ก็ไม่มีปัญหา เพราะมีทุนสำรองฯ เพียงพอที่จะชดเชยหนี้ต่างประเทศทั้งในระยะสั้น-ระยะยาวในภาครัฐและเอกชนที่มีรวมกัน 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งยังเหลือทุนสำรองฯ อีกกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับไทยไม่มีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการเงินเลย

ด้านปัญหาหนี้สาธารณะที่กังวลว่าอาจเพิ่มสูงขึ้นหากรัฐบาลเดินหน้านโยบายประชานิยมต่อเนื่องนั้น มองว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ที่ 45% ของ GDP ต่ำกว่ากรอบวินัยทางการคลังที่ตั้งเป้าหมายไม่ให้เกิน 60% ซึ่งหากนับรวมการขาดทุนจาก โครงการจำนำข้าว ที่นักวิชาการประเมินไว้ว่าจะขาดทุน 4.25 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.3% ของจีดีพี โดยรวมจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 48.3% ของจีดีพี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่ายังไม่ได้เป็นปัจจัยที่ต่างประเทศต้องกังวลมากนัก

นายเดวิด มานน์ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ทวีปอเมริกา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวในการประชุม standard chartered bank H2 economic update เพื่อนำเสนอผลการวิจัยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังและปีหน้าว่า ปัญหาการขยายเพดานหนี้และการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) จะกลับมารบกวนตลาดเงินและตลาดทุนอีกครั้งในปีหน้า แต่เชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะลดมาตรการ QE ในเดือน มี.ค.57

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้น แม้จะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.5% ยุโรปขยายตัว 1-2% ญี่ปุ่นขยายตัว 1.5% และจีนจะเติบโตได้ 7%

ขณะที่การผ่านร่างกม.ขยายเพดานหนี้สหรัฐจะส่งผลให้ภาวะตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องมีการติดตามต่อไปในช่วงเดือน ธ.ค.56-ม.ค.57 เนื่องจากจะต้องพิจารณาขยายเพดานหนี้อีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดเงินโลกยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังต้องรอความชัดเจนว่าสหรัฐจะถอนมาตรการ QE เมื่อใด คาดว่าน่าจะเริ่มถอนอย่างช้าในเดือน ม.ค.57 ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดเงินโลกเริ่มกลับเข้ามามีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/57 และหลังจากนั้นทิศทางค่าเงิน ดอกเบี้ย และเงินทุนเคลื่อนย้ายจะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละประเทศเป็นหลักที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ