(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI ต.ค.56 ขยายตัว 1.46%, Core CPI เพิ่ม 0.71%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2013 11:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.อุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนต.ค.56 อยู่ที่ 105.76 เพิ่มขึ้น 1.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.17% จากเดือนก.ย. 56

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือนต.ค.56 อยู่ที่ 103.35 เพิ่มขึ้น 0.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.12% จากเดือนก.ย.56

ขณะที่ตัวเลข CPI 10 เดือน(ม.ค.-ต.ค.56)เพิ่มขึ้น 2.27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ Core CPI เฉลี่ย 10 เดือนเพิ่มขึ้น 1.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 56 อยู่ระหว่าง 2.10 - 2.60%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือนต.ค.56 อยู่ที่ 109.62 เพิ่มขึ้น 2.87% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.61% จากเดือนก.ย.56 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือนต.ค.56 อยู่ที่ 103.52 เพิ่มขึ้น 0.75% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.05% จากเดือนก.ย.56

สำหรับในเดือนตค สินค้าที่มีการปรับราคาสูงขึ้นมีทั้งหมด 195 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 43.33% ส่วนสินค้าที่ปรับลดลง 74 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 16.45% ส่วนสินค้าที่ราคาคงที่มี 181 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 40.22%

น.ส.อุรวี กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือน ต.ค.56 เป็นอัตราที่สูงขึ้นเล็กน้อยต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา และเทียบเฉลี่ยเดือนม.ค. — ต.ค. 56 สูงขึ้น 2.27% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ก๊าซหุงต้ม และผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาลดลงตามภาวะราคาตลาดโลก จึงส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับภาครัฐยังคงมาตรการดูแลด้านค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ภาวะการใช้จ่ายด้านการบริโภคภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ

การเคลื่อนไหวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนต.ค.56 เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เป็นสำคัญ โดยดัชนีเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้น 0.61% จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลิตภัณฑ์จากแป้ง ผักและผลไม้ มะพร้าวผลแห้ง/ขูด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ราคาเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาลดลงตามความต้องการบริโภคที่ชะลอตัวจากภาวะฝนตกชุกต่อเนื่อง และน้ำท่วมในบางพื้นที่ ประกอบกับเป็นเทศกาลกินเจและสถานศึกษาปิดภาคเรียน จึงทำให้ความต้องการบริโภคลดลง

สำหรับหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีลดลง 0.05% สาเหตุจากการลดลงของหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ 1.14% จากการปรับลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกและหมวดค่าของใช้ส่วนบุคคล ลดลง 0.12% ได้แก่ ยาสีฟัน แชมพูสระผม ครีมนวดผม แป้งผัดหน้า ตามการส่งเสริมการจำหน่าย ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ก๊าซหุงต้ม ค่าตรวจรักษาและค่ายา ค่าทัศนาจรต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ยาสูบและสุรามีราคาสูงขึ้น

สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี ที่คาดไว้ระหว่าง 2.1-2.6% มีแนวโน้มที่จะค่อนมาทางประมาณ 2.2-2.3% ในกรณีที่เป็นเหตุการณ์ปกติ ไม่ขาดแคลนน้ำมัน หรือมีการสู้รบในตะวันออกกลาง โดยสมมติฐานของเงินเฟ้ออยู่ที่ว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 90-110 ดอลลาร์/บาร์เรล, อัตราแลกเปลี่ยน 28-32 บาท/ดอลลาร์, รัฐบาลยังคงมาตรการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนต่อไป ขณะที่เงินเฟ้อในไตรมาส 4/56 คาดว่าจะขยายตัว 1.70% โดยในช่วง 2 เดือนที่เหลือ(พ.ย.-ธ.ค.) คาดว่า จะมีอัตราขยายตัว 1% กว่าในแต่ละเดือนเช่นกัน

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 1%กว่า เป็นตัวเลขที่ไม่สูงเพราะสินค้าหลายรายการ อาทิ พืชผักปรับตัวลดลงเนื่องจากเข้าสูหน้าหนาว ราคาสินค้าจึงไม่แพงเหมือนในหน้าร้อน ประกอบกับปีนี้ราคาน้ำมันดิบไม่สูงในระดับที่เคยคาดไว้ ดังนั้น จึงทำให้แรงกดดันต่อเงินฟ้อลดลง

ทั้งนี้ มองว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ดี เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียด้วยกัน อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากไต้หวัน และ มาเลเซีย โดยใน 9 เดือนแรก อัตราเงินเฟ้อไต้หวันอยู่ที่ 0.89% มาเลเซีย 1.80% ไทย 2.36% สิงคโปร์ 2.49% และจีน 2.56%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ