TMB คาดจีดีพี Q3/56 โตแค่ 2.9% เหตุเครื่องชี้ศก.หลายตัวอ่อนแอ ทั้งปีโต 3.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 13, 2013 16:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) มองจีดีพีไตรมาส 3/56 อาจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 หลังเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจรายเดือนยังคงอ่อนแอ ความหวังพึ่งพาส่งออกและการท่องเที่ยวริบหรี่ ชี้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ไม่สวยหรู

TMB Analytics ได้พิจารณาที่เครื่องชี้กำลังซื้อภายในประเทศช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.56 พบว่าการใช้จ่ายทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังมีสัญญาณอ่อนแอลงค่อนข้างมาก เห็นได้จากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่หดตัวร้อยละ 2.1 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า จากที่เคยขยายตัวได้ร้อยละ 0.7 ในไตรมาส 2 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีการนำเข้าสินค้าทุนหรือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตลดลงถึงร้อยละ 7.7 แย่ลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวเพียงร้อยละ 1.5 เนื่องมาจากฐานที่สูงจากการเร่งลงทุนและขยายกำลังการผลิตในช่วงหลังน้ำท่วมเมื่อปีก่อน

เมื่อมองไปถึงภาคการผลิต พบว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 หดตัวร้อยละ 3.6 จากไตรมาสเดียวกันของปี 55 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 4.9 เป็นผลจากการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และการผลิตเบียร์ที่พลิกกลับมาหดตัวในไตรมาสนี้ รวมถึงการผลิตกุ้งแช่แข็งที่ยังหดตัวสูง สอดคล้องกับสถิติอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ส่อแววเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามอาจจะยังไม่หลุดจากภาวะถดถอยทางเทคนิค

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีประเมินว่า จีดีพีในไตรมาส 3 น่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ก็อาจมีปัจจัยเซอร์ไพรส์ตลาดคือ ส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังที่อาจทำให้การเติบโตของจีดีพีคลาดเคลื่อนไปจากคาดการณ์เล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสต็อกข้าวและทองคำ ทำให้เรายังคงมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ในปีนี้

"ส่วนโอกาสที่จะได้เห็นตัวเลขทั้งปีที่ระดับร้อยละ 3.5-4.0 ตามที่หลายหน่วยงานคาดหวัง ก็ดูเหมือนจะริบหรี่ลง จากภาวะการบริโภคและลงทุนภายในประเทศของทั้งรัฐและเอกชนที่น่าจะชะลอตัวยาวไปถึงปีหน้า แต่น่าจะกลับมาเห็นสัญญาณบวกชัดเจนในช่วงกลางปี 2557" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับความหวังของปีนี้อยู่ที่ภาคส่งออกของไทย ซึ่งถ้าหากขยายตัวได้เกินคาดในช่วงไตรมาส 4 ก็จะทำให้ตัวเลขจีดีพีออกมาสวยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ นั่นหมายความว่าการส่งออกสินค้าต้องมีอัตราการขยายตัวทั้งปีอย่างน้อยร้อยละ 2 (กรอบร้อยละ 1.4 - 2.0) และเป็น 2 เท่าของเป้าหมายล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 1 ซึ่งรายงานสถิติการค้าระหว่างประเทศเดือนล่าสุดก็ยังคงบ่งชี้ว่า การส่งออกหมวดสำคัญๆ เช่น ยานพาหนะก็ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ล้วนหดตัวทั้งสิ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพึ่งการส่งออกสินค้าไม่ได้ ก็ต้องอาศัย การส่งออกบริการ ซึ่งหมายถึงภาคท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ให้มีอัตราการขยายตัวสูงเกินร้อยละ 22.6 ซึ่งสูงมาก เพราะขนาดปี 2555 ที่ท่องเที่ยวไทยขยายตัวอย่างมาก การส่งออกบริการก็ยังขยายตัวไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่ตัวเลขในช่วงครึ่งปีแรกของ 2556 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจในประเทศกลุ่มใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ และยุโรปยังมีทีท่าไม่ได้ดีนัก กอปรกับปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเองที่ส่งผลกระทบโดยเฉพาะต่อความเชื่อมั่นในกิจการค้าขายและการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้าและบริการจึงไม่ใช่หัวจักรที่จะนำการขยายตัวของไทยในปลายปีนี้

"ดังนั้น เราจึงมองว่าตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์ฯ จะรายงานน่าจะฟุบมากกว่าฟื้น และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญที่นักลงทุนต้องจับตาดูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับเซียนหุ้นทั้งหลายที่ตลาดอ่อนไหวกับข่าว และสามารถผันผวนขึ้นลงในอดีตได้ถึงวันละ 20-30 จุดเลยทีเดียว" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ