ธปท.แจง กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายให้น้ำหนักความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2013 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดลง 0.25% เมื่อวันที่ 27 พ.ย.นี้ เนื่องจากต้องการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังไม่ฟื้นตัว แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้ให้น้ำหนักความสำคัญต่อความเสี่ยงของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังค่อนข้างต่ำ ประกอบกับสินเชื่อตั้งแต่ต้นปีชะลอตัวลงจาก 15-16% เหลือประมาณ 10% ดังนั้น ความเป็นห่วงจะเกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ชะลอลง

การปรับลดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายที่ดูแลความสดุลของเศรษฐกิจ และความเสี่ยงของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านราคาและด้านการเงิน โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่จะมีผลมากน้อยแค่ไหนต้องติดตาม ซึ่ง กนง.เห็นว่าความจำเป็นในการดำเนินนโยบายแบบผ่อนปรนยังคงมีต่อไปอีกระยะหนึ่ง

นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้แสดงความกังวลว่าเมื่อลดอัตราดอกเบี้ยแล้วจะทำให้มีเงินทุนไหลออกว่า ที่ผ่านมาเงินทุนก็มีการไหลเข้าไหลออกอยู่แล้ว ซึ่ง กนง.ได้พิจารณาปัจจัยเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายดอกเบี้ยครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้เงินทุนก็มีไหลออกออกก่อนลดดอกเบี้ยอยู่แล้ว

พร้อมมองว่า ธปท.สามารถบริหารจัดการได้ตามกลไกที่มีอยู่ เพราะปัจจุบันใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่น ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังมีเพียงพอรองรับแรงกระแทก หากเกิดกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเกินระดับที่เหมาะสม

นายไพบูลย์ ยังเห็นว่า การที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามนั้น เชื่อว่าคงประเมินแล้วว่าสินเชื่อมีแนวโน้มจะชะลอตัวในระยะข้างหน้าตามทิศทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความจำเป็นในการแข่งขันระดมเงินฝากอาจน้อยลง ซึ่งต้องประเมินสภาพคล่องว่าเป็นอย่างไร ต้นทุนมากน้อยเพียงใด โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า การลดอัตราดอกเบี้ยแม้จะไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง แต่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อต่อปัจจัยเสี่ยงในการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงได้บ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ