นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.16/17 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าเล็กน้อยจากช่วงเช้าที่ระดับ 32.18/19 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันไปทำไฮที่ระดับ 32.23 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามกระแสข่าวลือในประเทศ
"ปิดตลาดที่ระดับโลว์สุด ระหว่างวันเคลื่อนไหวตามกระแสข่าวในประเทศ" นักบริหารเงิน กล่าว
ทิศทางเงินบาทในวันพรุ่งนี้น่าจะยังคงไปตามสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยต่างประเทศรอดูการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐ
นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.00-32.30 บาท/ดอลลาร์
"สถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูในช่วงนี้" นักบริหารเงิน กล่าว- ปัจจัยสำคัญ
- ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.73 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 103.06 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3568 ยูโร/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3536 ยูโร/ดอลลาร์
- ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,383.89 จุด เพิ่มขึ้น 9.63 จุด, +0.70% มูลค่าการซื้อขาย 48,546.36 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 5,950.30 ล้านบาท(SET+MAI)
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพ.ย. อยู่ที่ 75.0 ลดลงจากระดับ 76.6 ในเดือนต.ค. ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 22 เดือน โดยปัจจัยลบสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย.นี้ปรับลดลง คือ ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ, สภาพัฒน์ปรับลด GDP ปี 56 ลงเหลือ 3% จากเดิม 3.8-4.3%, ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลด GDP ในปีนี้ลงเหลือ 3% จากเดิม 3.7%, เงินบาทปรับอ่อนค่า, ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 1 บาท/ลิตร
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ธ.ค.) ขานรับข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ขณะที่สกุลเงินเยนอ่อนค่าลงหลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่าอาจจะขยายมาตรการกระตุ้นทางการเงิน
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (2 ธ.ค.) ขานรับรายงานที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของภาคการผลิตในสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปค) ในวันพุธนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าโอเปคจะคงเพดานการผลิตน้ำมันดิบไว้เท่าเดิม โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ม.ค.พุ่งขึ้น 1.1 ดอลลาร์ ปิดที่ 93.82 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน ม.ค.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 1.76 ดอลลาร์ ปิดที่ 111.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงอย่างหนักกว่า 2% เมื่อคืนนี้ เนื่องจากข้อมูลภาคการผลิตที่แข็งแกร่งของสหรัฐทำให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ.ร่วงลง 28.5 ดอลลาร์ หรือ 2.28% ปิดที่ 1,221.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.ปีนี้
- มาร์กิตเปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐในเดือน พ.ย.พุ่งขึ้นแตะ 54.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน จากระดับ 51.8 ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าการประเมินเบื้องต้นที่ 54.3
- ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในช่วงเช้าวันนี้ โดยดัชนี MSCI Asia Pacific ขยับขึ้นไม่ถึง 0.1% แตะที่ระดับ 141.78 จุด เมื่อเวลา 9.31 น.ตามเวลาโตเกียว หลังเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณดีขึ้น ก่อให้เกิดกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเริ่มลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ในอีกไม่นานนี้
- นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุยังไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะต้องต่อสู้เพื่อกำจัดระบอบทักษิณต่อไป ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะยุบสภาเพื่อโยนมาให้กลายเป็นว่ากลุ่มมวลชนไม่มีเหตุผล และอาจใช้ไม้ตายสุดท้ายด้วยการลาออก แต่ไม่ใช่ทางออกที่จะกำจัดระบอบทักษิณออกไปได้
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีปิดเพิ่มขึ้นวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังหุ้นโตเกียวพุ่ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 331 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.630% เพิ่มขึ้น 0.020% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ส่วนราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปีส่งมอบเดือนธ.ค. ปรับตัวลดลง 0.19 จุด แตะที่ 144.84 ที่ตลาดหุ้นโตเกียว
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงลดลง 170 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,380 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือเทียบเท่ากับ 1,232.59 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 18.41 ดอลลาร์สหรัฐ