ศูนย์วิจัยฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นราคาทองคำม.ค.57 ฟื้นจากบาทอ่อน-อุปสงค์ช่วงตรุษจีน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2014 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ (Gold Price Sentiment Index) เดือนม.ค.57 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำอยู่ที่ระดับ 58.61 จุด เพิ่มขึ้น 13.09 จุด หรือ 28.76% จากเดือนธ.ค.56 ที่อยู่ระดับ 45.52 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อราคาทองคำในช่วงต้นปี ซึ่งสอดคล้องกันกับกลุ่มผู้ลงทุนทองคำและผู้ค้าทองคำที่ค่าดัชนีรายกลุ่มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า การอ่อนค่าของเงินบาทจากกรณีการลดขนาด QE และปัจจัยเสี่ยงในประเทศ รวมทั้งอุปสงค์ช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนปลายเดือนม.ค.นี้ น่าจะช่วยหนุนราคาทองให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนมีการปรับตัวลดลงจากการจัดทำในเดือนก่อน 7.58 จุด หรือ 13.12% มาอยู่ที่ระดับ 50.19 จุด สะท้อนว่ากลุ่มตัวอย่างยังไม่แน่ใจว่าในระยะยาวราคาทองคำจะสามารถปรับตัวขึ้นได้หรือไม่ โดยยังมีความวิตกเรื่องขนาดมาตรการ QE ในอนาคตอาจจะทำให้ทิศทางเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า รวมถึงการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับตัวของราคาทองคำ

ด้านนายภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus)ที่รวบรวมตัวอย่างจากผู้ค้าส่งทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง เชื่อว่าราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนม.ค.นี้ โดยรวมจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,140-1,320 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่ากรอบราคาต่ำสุดในเดือนม.ค.น่าจะอยู่ในช่วง 1,180-1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่กรอบสูงสุดคาดว่าจะอยู่ที่ 1,260-1,280 ดอลลาร์/ออนซ์

ส่วนราคาทองคำในประเทศที่ความบริสุทธิ์ 96.5% เชื่อว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 18,400-20,600 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบเคลื่อนไหวต่ำสุดของกลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักที่ 18,400-18,800 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และในกรอบเคลื่อนไหวสูงสุดอยู่ที่ 19,800-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ โดยมีประเด็นการอ่อนค่าของเงินบาทหลังการลดขนาดมาตรการ QE และอุปสงค์ของทองคำในช่วงต้นปีเป็นปัจจัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดอันดับ 10 เรื่องเด่นในตลาดทองคำประจำปี 2556 โดยจัดเก็บจากกลุ่มตัวอย่างที่มีการลงทุนทองคำและผู้ค้าทองคำ และมีการจัดลำดับตามสัดส่วนการให้ความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ดังนี้

1. เฟดชะลอคิวอี (QE tapering)

2. ปัญหาหน้าผาการคลังสหรัฐฯ (Fiscal Cliff)

3. SPDR ทิ้งทอง

4. ข่าวลือไซปรัสขายทอง

5. วิกฤติปิดหน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ US Government Shutdown

6. Investment Bank ลดประมาณการณ์ราคาทองคำ

7. จอร์จ โซรอส ประกาศลดการถือครองทองคำ

8. FED หักปากกาเซียน คงมาตรการ QE ในเดือนกันยายน

9. อินเดียขึ้นภาษีนำเข้าทองคำ 10. ECB ผ่อนคลายนโยบายการเงิน และวิกฤติซีเรีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ