ม.หอการค้าคาดชัตดาวน์กทม.กระทบบริโภค 500 ลบ./วัน ท่องเที่ยว 200-500 ลบ./วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 9, 2014 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อกรณีการปิดกรุงเทพฯ ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) โดยประเมินว่าจะส่งผลกระทบใน 3 ด้านสำคัญ คือ การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งในส่วนของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจนั้น อาจจะส่งผลให้การบริโภคลดลงราว 500 ล้านบาท/วัน คิดเป็นการลดลงประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท/2 สัปดาห์ หรือราว 1-2 หมื่นล้านบาท/เดือน

ส่วนภาคการท่องเที่ยวนั้นอาจจะทำให้นักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ และอาจส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปประมาณ 200-500 ล้านบาท/วัน คิดเป็นการลดลงประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท/ 2 สัปดาห์ หรือราว 1-2 หมื่นล้านบาท/เดือนเช่นกัน

"เราคาดการณ์ว่าในกรณีปิดกรุงเทพฯ จะกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้การบริโภคลดลงราว 500 ล้านบาท/วัน ขณะที่ในด้านการท่องเที่ยวนั้น จะกระทบต่อรายได้การท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ให้ลดลงราว 200-500 ล้านบาท/วัน หรือคิดเป็นการลดลง 5-10" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ หากรวมผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากทั้งภาคการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยวต่อกรณีการปิดกรุงเทพฯ ยาวนานถึง 1 เดือน ก็คาดว่าจะคิดเป็นผลกระทบราว 2-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผลทำให้ GDP ในปีนี้อาจจะลดลงราว 0.1-0.2%

อย่างไรก็ดี มองว่าในภาคการส่งออกคงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เพราะ กปปส.พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยการไม่ปิดสนามบิน และท่าเรือกรุงเทพฯ ตลอดจนเส้นทางคมนาคมขนส่ง

ก่อนหน้านี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ราว 4-5% แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะต้องเข้ามาท่องเที่ยวในไทยปีนี้อย่างน้อย 27-28 ล้านคน ด้านการส่งออกปีนี้ต้องเติบโตได้ 5-7% และมีการลงทุนของภาครัฐในโครงการต่างๆ เป็นตัวอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 3-4% มีความเป็นไปได้มากสุดถึง 40% จากการประเมินภายใต้ปัจจัยที่ว่าจะได้รัฐบาลใหม่ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองอาจยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพนัก และการชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงมีต่อเนื่องจนถึงสินปีและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ต่ำกว่าแผนที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ