ทั้งนี้ นายทนง เชื่อมั่นว่าขั้นเลวร้ายสุดเศรษฐกิจปีนี้คงไม่ถึงขั้นติดลบ เพราะเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากแล้ว และการผลิตไม่ได้ถูกกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองมากนัก เครื่องมือเครื่องจักรที่มีอยู่ยังพอทำให้สามารถส่งออกได้ในราคาค่าเงินบาทปัจจุบัน แต่หากจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 4% การส่งออกก็จะต้องเติบโตให้ได้ราว 8-10%
สำหรับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวกลับขึ้นมา กลับต้องหายไป ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้หลายบริษัทเริ่มชะลอดูสถานการณ์และเริ่มคิดจะย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย ขณะที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีแนวคิดจะย้ายไปเวียดนาม ดังนั้นหากไม่สนใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร มุ่งแต่จะเอาชนะกันให้ได้โดยไม่สนใจเรื่องเวลา ก็จะบั่นทอนเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ
นายทนง กล่าวถึงปัญหาในโครงการรับจำนำข้าวว่า วิธีการรับจำนำไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ราคารับจำนำแพงกว่าตลาดโลก และรัฐบาลไม่สามารถปั่นราคาให้สูงขึ้นไปตามที่คาดการณ์ไว้ได้ จึงทำให้เกิดปัญหา ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรับความจริงว่าขาดทุนมากแค่ไหน และไม่ได้แก้ปัญหาที่พื้นฐาน คือ การกำหนดราคาที่เหมาะสม การปลูกข้าวที่เหมาะสม เพื่อให้ปริมาณข้าวเหมาะสม ขณะที่ประเทศที่จนกว่าเราเริ่มผลิตได้มากขึ้น ทำให้คู่แข่งมีค่าแรงถูกกว่า ต้นทุนต่ำกว่า โครงสร้างการผลิตข้าวของเราต้องเปลี่ยนใหม่
"ตอนนี้เงินหมด ไม่มีเงินไปจ่ายใบประทวน ปัญหา คือเราตั้งราคาสูงเกินไป วิธีการบริหารเกี่ยวกับข้าวอาจจะผิดไปทั้งหมด การกักตุนไม่ได้ช่วยให้ชาวนาดีขึ้นอย่างแท้จริง ถ้าทำให้ชาวนาปรับปรุงประสิทธิภาพ จะยินดีด้วย แต่กลายเป็นช่วยโรงสี พ่อค้า ที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาข้าว และมีการลักลอบข้าวเข้ามาหมุนเวียน" นายทนง กล่าวพร้อมระบุว่า รมว.คลังคนใหม่ ต้องดูแลวินัยการเงินการคลังให้ดี เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การลงทุนโครงการก่อสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้าบาท จำเป็นต้องใช้เงินมาก ส่งผลให้ภาวะหนี้จะปรับขึ้นเร็วมาก และในที่สุดจะกลายเป็นหนี้ต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดหนี้สาธารณะขึ้นไปที่ระดับ 50-60% ของจีดีพีแน่นอน
ดังนั้นรัฐบาลจะต้องใช้นโยบายมหภาคเพื่อให้นักธุรกิจสามารถแข่งขันกับเวทีโลก และสร้างมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้นได้ สามารถเป็นผู้นำในอาเซียน มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานในประเทศที่สูงไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า ขณะเดียวกันต้องรับทุนใหม่จากต่างประเทศเข้ามา รวมทั้งต้องสร้างสมรรรถนะการผลิตให้เหมาะสมกับระดับค่าจ้างแรงงานในประเทศของเราให้ได้