ธปท.ชี้ไทยเผชิญเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนระยะสั้นหลังสหรัฐถอน QE กระทบค่าเงินทั่วโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 7, 2014 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานมหกรรมการเงินพัทยา ครั้งที่ 4 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะปรับดีขึ้นและจะขยายตัวดีกว่าปีที่แล้ว นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจจีน เอเชียและตลาดเกิดใหม่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักผ่านการส่งออกในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางปริมาณเงินหรือ Quantitative Easing (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และกระทบค่าเงินทั่วโลก รวมทั้งค่าเงินบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งหรือการดำเนินนโยบายบิดเบือนกลไกตลาดจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีปัจจัยบวกจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวข้างต้น แต่ด้วยข้อจำกัดของปัจจัยทางการเมืองในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคที่ชะลอลง ประกอบกับภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน ที่สะสมมาก่อนหน้านี้ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศมีจำกัด และภาครัฐมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ การประเมินทิศทางเศรษฐกิจและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ จึงควรมีความระมัดระวังทั้งในเรื่องการใช้จ่าย การวางแผนทางการเงิน แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังดีอยู่ ภาคธุรกิจเอกชน ระบบการเงินและสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรองรับผลกระทบในระยะสั้นได้

ส่วนเรื่องที่สอง คือ สถาบันการเงินนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่มีคุณภาพต่อประชาชนอย่างเหมาะสมนั้น ที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มทางเลือกการออมและการลงทุนให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดีระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ธปท.ได้ให้ความสำคัญใน 3 เรื่องหลักเพื่อดูแลให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพทั่วถึงและเป็นธรรม คือ

1.การส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงิน พร้อมทั้งรู้สิทธิและความเสี่ยงที่อาจมีเพื่อให้สามารถตัดสินใจทางการเงินได้อย่างเหมาะสม

2.การกำกับดูแลกฎเกณฑ์ให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน อาทิ หลักเกณฑ์การขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ (cross selling) และหลักเกณฑ์การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (banking products) ให้ชัดเจนครบถ้วน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะรายย่อยมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงินและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการและเหมาะสมกับสถานะและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง

และ 3. การให้บริการรับเรื่องร้องเรียนกรณีลูกค้าไม่ได้รับความเป็นธรรมตามสิทธิที่ควรได้รับ

เรื่องสุดท้าย คือ การมีวินัยและการวางแผนการจัดสรรการออม ส่วนตัวเห็นว่าการไม่ก่อหนี้เกินตัว มีวินัยในการออม และวางแผนจัดสรรการออมที่เหมาะสมกับฐานะทางการเงินของแต่ละบุคคล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีกับครอบครัว เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจังเท่าที่ควร จากการสำรวจเรื่องการออมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ ธปท.ในปีที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนที่ไม่มีเงินออมเลยมีสัดส่วนถึง 22.6% และมีประชาชนเพียง 23.3% หรือไม่ถึง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ได้มีการเก็บออมไว้ใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงในภาวะที่สังคมไทยมีประชากรเข้าสู่วัยชราภาพมากขึ้นอย่างรวดเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ