จับตาทิศทางดอกเบี้ย 12 มี.ค.หลังหลายสถาบันมองกนง.มีโอกาสทั้งลดและคง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 11, 2014 11:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักยังเห็นก้ำกึ่งต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)พุธนี้ ซึ่งมีทั้งคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25% โดยมองการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจยังไม่เสถียร แนะรอเก็บกระสุนไว้ใช้ในการประชุมกนง.รอบหน้า ขณะที่อีกด้านมองกนง.อาจลดดอกเบี้ยลง 0.25% เหตุการเมืองเริ่มรุนแรงและยืดเยื้อ กระทบแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแผ่ว นโยบายการคลังชะงัก เหลือเพียงนโยบายการเงินเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ต้องงัดออกมาใช้
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
               สถาบัน                           อัตราดอกเบี้ย(R/P)          คง/ลด
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            2.25%                  คง
          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB                    2.25%                  คง
          ม.หอการค้าไทย                             2.25%                  คง
          บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)                      2.00%                  ลด
          บล.เอเชียพลัส                              2.00%                  ลด
          น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในรอบวันพุธที่ 12 มี.ค.นี้ค่อนข้างมีความก้ำกึ่งกันมาก ระหว่างการตัดสินใจคงดอกเบี้ยและการตัดสินใจลดดอกเบี้ย
          โดยเหตุที่ทำให้ประเมินการตัดสินใจของ กนง.ในรอบนี้ค่อนข้างยาก เป็นเพราะปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ ซึ่งปัจจัยนี้มีผลต่อการกำหนดแนวโน้มของเศรษฐกิจในช่วงนี้ และถ้าเศรษฐกิจมีปัญหา กนง.อาจจะลดดอกเบี้ย แต่ทั้งนี้จากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เสถียรและมีความซับซ้อน ทำให้ประเด็นในเชิงว่าถ้าลดดอกเบี้ยแล้ว ภาคเศรษฐกิจจะตอบรับอย่างไร
           ส่วนอีกเหตุผลที่มีน้ำหนักคือ ประเด็นเชิงเสถียรภาพ, หนี้ครัวเรือน, สภาพคล่องที่จะเข้าสู่ระบบการเงินไทย, อัตราเงินเฟ้อที่เริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น, เงินบาทอ่อนค่า, ปัญหาภัยแล้ง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศและสถานการณ์ในยูเครน
          ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีโอกาสที่จะประเมินความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมือง และเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ให้ตกผลึก เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับการประเมินทิศทางในระยะข้างหน้า ซึ่งยังสามารถทำได้ในการประชุม กนง.รอบหน้า ดังนั้นการประชุม กนง.รอบนี้อาจจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับ 2.25% เท่าเดิมไว้ก่อน
          "ยังพอที่จะทำได้ในอีกรอบหนึ่ง(การประชุมกนง.23 เม.ย.) และเก็บกระสุนไว้ก่อน เผื่อสถานการณ์ที่อาจจะพลิกผันไปจากคาด ดังนั้นสถานการณ์ในรอบนี้ก็มองว่ามีโอกาสจะคงดอกเบี้ยไว้ได้ น้ำหนักที่มีมาทางคงดอกเบี้ย มีมากกว่าลดดอกเบี้ยเล็กน้อย โดยรอบนี้น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ก่อน หากจะลดหรือไม่อาจจะค่อยไปพิจารณากันรอบหน้าอีกที ต้องตามตัวเลขหลักๆ สถานการณ์ทางการเมือง และประเมินกันเป็นรอบๆ ไป" น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว
          อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ถ้าปัญหาการเมืองผ่านพ้นไปและสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น จากที่จะเริ่มมีเม็ดเงินทางการคลังออกมา ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวขึ้นก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนด้วย ซึ่งถึงเวลานั้นก็จะทำให้เหตุผลของการลดอัตราดอกเบี้ยจะมีน้ำหนักลดลง แต่หากในช่วงรอยต่อ 1-2 เดือนจากนี้ยังชี้ไปในทางที่ไม่ชัดเจนต่อเนื่อง ก็จะให้ภาพไปอีกทิศทางหนึ่ง
           ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) คาดว่าการกนง.วันพุธนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% เกือบตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นระดับผ่อนคลายเพียงพอที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 57 และถือว่าไม่ผ่อนคลายมากเกินไปจนกระทั่งเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ส่วนความไม่แน่นอนทางการเมืองที่กำลังส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจนั้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงระยะสั้น ซึ่งพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังสามารถรองรับได้
          โดยภาพรวมเศรษฐกิจนับตั้งแต่ประชุม กนง.เมื่อ 22 ม.ค.57 นั้น รายงานตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ซึ่งต้องยอมรับว่าบางส่วนเป็นผลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย
          ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าการชะลอตัวเพิ่มเติมของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี เป็นผลมาจาการขาดความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลานี้อาจทำให้กลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไร้ประสิทธิผล อีกทั้งความตึงเครียดของสถานการณ์การเมืองที่คลายตัวลงบ้างในปัจจุบัน หลังทั้งสองฟากของความขัดแย้งเริ่มหันหน้ามาเจรจากันนับว่าเป็นสัญญาณบวกที่อาจชี้ถึงพัฒนาการของสถานการณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้ หากความวุ่นวายจบลงโดยเร็ว ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงเวลาอันสั้น
          โดยมองว่าปัจจัยที่เสริมให้มีการคงดอกเบี้ย น่าจะยังมีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยทางด้านที่หนุนให้มีการลดดอกเบี้ย จึงอาจเร็วเกินไปที่ กนง.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งนี้
          นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% มากกว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากขณะนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ได้ถดถอย แต่เป็นเพราะความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันมากว่า จึงเก็บเงินไว้ไม่นำออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงคงไม่สามารถช่วยกระตุ้นกำลังซื้อหรือกระตุ้นการลงทุนใหม่ได้
          อย่างไรก็ดี หาก กนง.เห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น กนง.ก็สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก 0.25% เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
          นายปรากรม ปฐมบูรณ์ นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 12 มี.ค.นี้ ลงมาเหลือที่ระดับ 2.00% และคาดว่ากนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อไปอีก 0.25% เหลือ 1.75% ในช่วงกลางปี 2557 ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนธ.ค.56 เป็นต้นมา ส่งผลให้ GDP ไตรมาสที่ 4/56 ขยายตัวเพียง 0.6% ดัชนีเศรษฐกิจหลักรายเดือนทุกดัชนีหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันปีก่อน ขณะที่ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจถดถอยลงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
          ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่องที่จะส่งผลให้อัตราการขยายตัว GDP ไตรมาสที่ 1/57 ใกล้ 0% บวกกับดัชนีเศรษฐกิจรายเดือนยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี จะยังเป็นปัจจัยหลักที่มีผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดของทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงที่ 1.75% กลางปี 2557
          "ความขัดแย้งภาคการเมืองที่ยาวนานและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันให้ กนง.จะปรับลดอัตรดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 12 มีนาคม" นายปรากรม ระบุ
          โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจคือ 1.ดัชนีเศรษฐกิจหลักรายเดือนในเดือนม.ค.57 หดตัวแรง เช่น ผลผลิตภาคอุตสหกรรมหดตัว 6.4%, ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนหดตัว 1.5%, ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัว 8.6% และมูลค่าส่งออกหดตัว 1.5% 2. GDP ไตรมาสที่ 4/56 ขยายตัวในระดับต่ำมากเพียง 0.6% 3.ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและการบริโภคโดยรวมแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา
          นายปรากรม กล่าวว่า หลังจากน้ำท่วมเข้านิคมอุตสาหกรรมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเดือนต.ค.54 ได้เคยคาดไว้แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยได้เข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว และ กนง.จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 3.50% ในการประชุมวันที่ 19 ต.ค.54 จากแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปสู่ระดับต่ำสุดของทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลงที่ 1.75% ในช่วงกลางปี 57
          ด้านบล.เอเชียพลัส ประเมินว่า มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ ซึ่งจากภายใต้สภาวะที่แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งในส่วนของการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ ตลอดจนการส่งออก ทำให้การดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีความจำเป็น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันทางเลือกในการดำเนินนโยบายทำได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการคลังถูกจำกัดตามกรอบอำนาจของรัฐบาลรักษาการ
          ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินจึงดูเหมือนเป็นตัวเลือกเดียวที่ยังเหลืออยู่ และแนวทางที่จะสามารถหยิบนำมาใช้ได้เร็วที่สุดก็คือการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยที่ กนง.จะมีวาระการประชุมในวันที่ 12 มี.ค.57 ทั้งนี้หากประเมินสถานการณ์แวดล้อมไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ภายใต้ความควบคุมที่ต่ำกว่า 2%, การไหลออกของเม็ดเงินจากต่างชาติชะลอตัวลง และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.2557 เป็นต้นมา ทำให้ฝ่ายวิจัยเห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ