"ที่ประชุม กนง. วันนี้มีมติเสียงข้างมาก 4:3 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2.00% ต่อปี จาก 2.25% โดยให้มีผลทันที" นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าว
เนื่องจากเสียงส่วนมากเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงน่าจะช่วยลดต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจ เช่น การออกหุ้นกู้ หรือตราสารหนี้ของภาคเอกชน นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนของภาระหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายลงได้ส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ต้องรอดูการตอบสนองของทั้งตลาดดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยตราสารหนี้ และดอกเบี้ยหุ้นกู้ของภาคเอกชน
ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยถือเป็นเครื่องมือที่มีผลในการช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงช่วยผ่อนปรนภาระการเงินโดยรวม รวมทั้งการกระตุ้นการใช้จ่าย แม้ กนง.เสียงส่วนน้อยจะเห็นว่าการลดดอกเบี้ยในขณะนี้อาจไม่ได้มีผลในการกระตุ้นการใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่เสียงส่วนมากเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงด้านอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าความเสี่ยงด้านตลาดเงินเป็นหลัก
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า กนง.ยังได้ประเมินสมมติฐานกรณีที่รัฐบาลไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท และระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท โดยได้ประเมินว่าจะมีการลงทุนเพียง 1 ใน 4 ของวงเงินงบประมาณ แต่มองว่ายังมีการลงทุนโครงการต่อเนื่องภายใต้การลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจตามงบประมาณปกติอยู่แล้ว ซึ่งทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และระบบบริหารจัดการน้ำจะไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก
สำหรับการลดดอกเบี้ยลงจะกระทบต่อเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนมากน้อยเพียงใดนั้น ที่ประชุม กนง.ประเมินว่าไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญ และถือว่าไม่ได้เป็นการเซอร์ไพรส์ตลาด เพราะก่อนหน้านี้ตลาดมองว่า กนง.รอบนี้น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอยู่แล้ว ซึ่ง กนง.ได้ประเมินจากตลาดการเงินโลก ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมองว่าค่อนข้างจะมีเสถียรภาพมาก และมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่มีความเป็นห่วงในความเสี่ยงด้านตลาดเงิน แต่ ธปท.ไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
"โดยรวม การผ่อนปรนคงมีส่วนช่วยผ่อนคลายภาวะทางการเงินในระบบเศรษฐกิจ ช่วยพยุงความเชื่อมั่น กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องรอดูปฏิกิริยาของตลาด" นายไพบูลย์ กล่าวพร้อมระบุว่า ประสิทธิผลในการลดดอกเบี้ยเป็นเรื่องหนึ่งที่ กนง.มีความเห็นไม่ตรงกันอยู่แล้ว โดยขณะนี้อาจมีผลไม่มากในการกระตุ้นโดยเสียงข้างน้อยที่เห็นว่าให้คงดอกเบี้ย เพราะประเมินว่าน่าจะเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะข้างหน้า แต่เสียงข้างมากมองว่าน่าจะลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยพยุงความเชื่อมั่น ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของเศรษฐกิจให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ธปท.จะมีการแถลงการปรับประมาณการณ์จีดีพีในปี 57 ใหม่อีกครั้งในสัปดาห์หน้า ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3%