CIMBT คาดมีโอกาสเห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นปลายปีนี้ เชื่อปัญหาการเมืองจบได้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 13, 2014 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ระบุว่า มีโอกาสได้เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี สำนักวิจัยฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤต การปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมาต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาระดอกเบี้ยจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเท่านั้น นอกจากนี้หากปัญหาการเมืองจบ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

วานนี้ กนง.มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และเมื่อรวมกับการปรับลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี 56 ที่ปรับลดไป 0.25% ถึงตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้ว 0.50% ซึ่งขณะนี้มีหลายสำนักมองว่าดอกเบี้ยจะปรับลดลงได้อีก

"ในปีนี้จะไม่เห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยอีก เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงดอกเบี้ยขาลง ยกเว้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ"

นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศที่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจในการจับจ่ายซื้อของ ขณะที่ผู้ลงทุนก็รอความชัดเจนจากแนวโน้มทางการเมือง นอกจากนี้ภาครัฐบาลเองก็ประสบปัญหาด้านความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนที่จำเป็นต้องเลื่อนออกไป การส่งออกก็ไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยปัญหาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยที่อาศัยเทคโนโลยีต่ำ ขณะที่ตลาดโลกเปลี่ยนไปหาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง อีกทั้งการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนจากการเน้นการบริโภคเป็นการลงทุน ซึ่งไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าทุนมากนัก ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจไทยจึงเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวที่รุนแรงต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ทาง กนง.จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.00% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

"หากเทียบการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต ทาง กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 0.50% คือช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 ช่วงมีปัญหาการส่งออกตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวปลายปี 2555 และล่าสุดเมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวพร้อมมีความเสี่ยงจากการเมืองปลายปี 2556 แต่หากเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการชะลอตัวอย่างรุนแรง ทาง กนง.จะลดดอกเบี้ยมากกว่านั้นมาก เช่นช่วงปี 2550 และ 2551 คำถามคือ ความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจีนมีสูงแต่ทาง กนง.จะมีกระสุนพอหรือไม่" นายอมรเทพ กล่าว

สำนักวิจัยฯ คาดว่า กนง.อาจจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาการชะลอตัวด้วยปัจจัยทางการเมือง แต่จะเก็บมาตรการทางการเงินไว้เพื่อรับมือวิกฤติการเงินจากภาคต่างประเทศ ที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงสำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือวิกฤติตลาดเกิดใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังมีการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ที่มากกว่าเดิม อีกทั้งหากสหรัฐฯ หยุดมาตรการ QE นักลงทุนต่างชาติจะตั้งคำถามว่าทางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงินไหลออกที่มากขึ้น อันจะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยได้ และหากเป็นเช่นนั้นทาง กนง.อาจต้องกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ