(เพิ่มเติม) ธปท.เผยบาทอ่อนค่าทิศทางเดียวภูมิภาค หลังเฟดลด QE ตามคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 20, 2014 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่ออ่นค่าเป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลในภูมิภาค หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีมติปรับลดขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปตามตลาดคาด ซึ่งสะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้น สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในตลาดเงิน ทำให้นักลงทุนหันกลับไปถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯในระยะสั้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทและเงินสกุลอื่นทั่วโลกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกรณีนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด ระบุว่า อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่เฟดยุติการใช้มาตรการ QE ไปแล้วราว 6 เดือนนั้น โฆษก ธปท. คาดว่า FED น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต้นไตรมาส 2 ปีหน้า เป็นระยะเร็วกว่าตลาดคาดไว้ แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ

โฆษก ธปท. กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่า เบื้องต้นคาด GDP โตต่ำกว่า 3% ซึ่งเป็นการโตต่ำกว่าศักยภาพ แม้การอุปโภคบริโภคในประเทศในค่อยๆิฟื้นตัวกลับมา แต่ก็ยังไม่เต็มศักยภาพ เช่น การอุปโภคสินค้าไม่คงทนถือว่ายังน้อยกว่าภาวะปกติ ส่วนสินค้าประเภทคงทนก็ขยายตัวต่ำเพราะเทียบกับฐานในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ การลงทุนก็ไม่มีความเชื่อมั่น อัตราการเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น การเบิกจ่ายภาคการคลังยังน้อยกว่าปกติ การส่งออกแม้จะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก แต่ก็ขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ไม่เต็มศักยภาพเช่นกัน

ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ก็ไม่น่ามีผลให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าที่คาดไว้อีก ทั้งนี้ถ้าเมื่อใดที่เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาโตได้ตามศักยภาพ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็คงไม่ผ่อนคลาย โดยพร้อมกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

"เดิมปีนี้เราไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ต่ำกว่า 3% โดยคาดไว้โต 4-5% แต่เมื่อปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลง นโยบายการเงินก็ต้องติดตามสถานการณ์และปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ซึ่งหากไทยต้องการกลับมาโตได้ 4-5% ก็ตัองปรับตัวให้นโยบายการคลังสามารถดำเนินกิจกรรมได้เต็มศักยภาพ การลงทุนต้องก้าวข้ามการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้ และยอมรับว่ารัฐบาลคงต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลมากขึ้นเพื่อเดินหน้าโครงการลงทุนต่างๆ ตามแผนเบิกจ่ายภายใต้กรอบงบประมาณปกติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขัน"นางรุ่ง กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ