ก.เกษตรฯคาดภาวะศก.การเกษตรปี 57 สาขาพืช-ปศุสัตว์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 31, 2014 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 คาดว่า สาขาพืชจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3.2-4.2% โดยผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ส่วนผลผลิตพืชที่มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรด และผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ เป็นต้น

ส่วนแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่เป็นดาวรุ่งเด่นๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ คือ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย และสินค้าที่จะมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา

นายชวลิต ยังกล่าวถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคการเกษตรในปี 2556 มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 1.43 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่า 1.39 ล้านล้านบาท

สาขาปศุสัตว์ปี 2556 มีมูลค่าการส่งออกรวม 9.8 หมื่นล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 12.5 % เพิ่มจากปี 2555 ที่มีมูลค่าการส่งออก 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปี 2557 คาดว่าภาพรวมของสาขาปศุสัตว์จะขยายตัวเติบโตขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างใกล้ชิด ทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์สำคัญเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ

ส่วนสาขาประมงในปี 2556 มีปริมาณการส่งออก ประมาณ 8.3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.02 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 7.2 เนื่องจากการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือโรค EMS ประกอบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไม่มั่นใจในสถานการณ์ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งลดลงค่อนข้างมากและมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงด้วย

นายชวลิต กล่าวว่า ในวันที่ 1 เม.ย. จะเป็นวันสถาปนากระทรวงเกษตรฯครบรอบปีที่ 122 และก้าวขึ้นสู่ปีที่ 123 กระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน" พร้อมปรับทิศทางการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์สำคัญในอนาคต

เบื้องต้น กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนพัฒนาการเกษตร 4 ด้านหลัก คือ 1.พัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มุ่งยกระดับเกษตรกรให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์(Smart Farmer) โดยมีสมาร์ทออฟฟิศเซอร์ (Smart Officer) เป็นเพื่อนคู่คิด มีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งจากการประเมินพบว่าปัจจุบันมีเกษตรกรที่เป็น Existing Smart Farmer ซึ่งผ่านคุณสมบัติที่ประเมิน จำนวน 221,884 ราย เป็นเกษตรกรที่ยังไม่ผ่านคุณสมบัติที่ประเมินและต้องพัฒนา จำนวน3,728,271 ราย นอกจากนั้น ยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร และเร่งยกระดับมาตรฐานสหกรณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งในเวทีการค้าอาเซียนและตลาดโลก

2.พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร โดยมุ่งพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรให้แข่งขันได้และมีผลผลิตเพียงพอกับความต้องการทั้งอาหารและพลังงาน พร้อมพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นปรับลดต้นทุนการผลิตและพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของภาคเกษตร ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) และสนับสนุนการพัฒนาระบบตลาดสินค้าเกษตรและเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภูมิภาคและระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยผลงานประดิษฐ์คิดค้นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขยายผลการพัฒนาภาคเกษตรด้วย

"กระทรวงเกษตรฯ มีแผนเร่งขยายผลและสานต่อโครงการสำคัญ ทั้งโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural City) และการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (Food Safety) ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรเป็นมูลค่ากว่าปีละ 1ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์รองรับประชาคมอาเซียน และส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเกษตรที่กำลังขาดแคลน และเป็นศูนย์กลางผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตรวนอาเซียนด้วย" ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

3.พัฒนาทรัพยากรการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสมดุลและยั่งยืน โดยมุ่งฟื้นฟูทรัพยากรการเกษตรให้มีความเหมาะสมต่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นขับเคลื่อนและขยายผลการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ(Zoning) รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ชลประทาน มีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มพื้นที่ชลประทานต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 200,000 ไร่ โดยเฉพาะเขตโซนนิ่ง พร้อมเพิ่มบ่อน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทานปีละ 100,000 บ่อ และวางระบบเติมน้ำในแหล่งชุมชนให้สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงแล้งได้

4.ปรับปรุงกลไกการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยจะพัฒนาปรับปรุงระบบงานและทบทวนบทบาทภารกิจให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เป็นองค์กรขนาดเหมาะสมที่ศักยภาพ ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและเพิ่มคุณภาพการให้บริการกับประชาชน ตอบสนองนโยบายของประเทศและสร้างประโยชน์โดยตรงให้กับเกษตรกร โดยบูรณาการการทำงานและพัฒนาทั้งในเชิงพื้นที่การจัดการรายสินค้าและบุคลากร ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

"กว่า 122 ปีแล้วที่กระทรวงเกษตรฯ ได้อยู่เคียงข้างเกษตรกรไทย การปรับแผนขับเคลื่อนพัฒนาการเกษตรทั้ง 4 ด้านดังกล่าว คาดว่า จะพัฒนาภาคเกษตรไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นด้วย" นายชวลิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ