(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยดีขึ้นใน Q2/57 เงินบาทไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2014 15:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/57 รวมทั้งการส่งออกที่ไตรมาสแรกหดตัวนั้น ก็เชื่อว่าจะดีขึ้นเช่นกัน เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีเสถียรภาพ ซึ่งการเคลื่อนไหวในช่วง 32 บาท/ดอลลาร์ไม่เป็นอุปสรรรคต่อภาคการค้าของไทย

อย่างไรก็ตาม ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปี 57 จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้

"GDP ทั้งปีที่คาดว่าจะต่ำกว่า 3% ไม่มี surprise ส่วนปี 58 น่าจะสูงกว่าปีนี้ เพราะเชื่อว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนี้น่าจะคลี่คลาย ประกอบกับปีหน้าเทียบกับปีนี้ถือว่าเป็นฐานที่ค่อนข้างต่ำ"นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ในไตรมาส 2/57 การส่งออกและ GDP น่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก และทั้งปียังมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก แต่ก็คงจะเติบโตต่ำกว่า 2.7% ที่ประเมินไว้ ซึ่งต้องรอรายละเอียดที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาข้อมูลล่าสุด และจะมีการประชุมทบทวนกันในวันที่ 18 มิ.ย. โดยคาดว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์ GDP เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริง

ทั้งนี้ การปรับลด GDP มาจากการจัดทำงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าเกินกว่า 1 ไตรมาสที่คาดไว้ และคาดว่าการมีรัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศจะล่าช้าไปในครึ่งปีหลัง ประกอบกับ อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอลง แต่ขณะที่การส่งออกปีนี้มองว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้น

ส่วนการส่งออกไตรมาส 1/57 ที่ติดลบนั้น แนวโน้มในช่วงที่เหลือน่าจะเติบโตได้ดีขึ้น โดยคาดว่าส่งออกทั้งปี 57 จะขยายตัวราว 4.5% ปัจจัยหลักคือเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เคลื่อนไหว 32 บาท/ดอลลาร์ ไม่ได้ถือว่าอ่อนค่าหรือแข็งค่ากว่าคู่ค้ามากนัก โดยถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และการค้าระหว่างประเทศ

"ส่วนใหญ่ตลาดเงินก็มองว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างมีเสถียรภาพและยังเอื้อต่อการทำธุรกิจด้านต่างๆ ได้"นายประสาร กล่าว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า อัตราหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ GDP แต่อัตราเร่งชะลอลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ มีการดูแลคุณภาพของหนี้อย่างใกล้ชิดและมีการติดตามลูกค้าที่มีปัญหาเพื่อเข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็ว ปรับเกณฑ์การผ่อนดอกเบี้ยผ่อนเงินต้นป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสีย จุดนี้จึงไม่น่ากังวลมากนัก เพราะทุกฝ่ายมีความระมัดระวังสูงอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ