TMB คาดส่งออกปีนี้โตไม่ถึงเป้าที่ 5% จากมูลค่าสินค้าเกษตรหดตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 29, 2014 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินทิศทางการส่งออกในปี 2557 โดยมองว่า การส่งออกจะขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 5 รวมถึงต่ำกว่าตัวเลขประมาณการของศูนย์วิเคราะห์ฯที่ร้อยละ 4.5 จากปัญหารุมเร้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรทั้งด้านอุปสงค์ ราคา และผลผลิต โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ จะปรับลดตัวเลขคาดการณ์ส่งออกในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมกับการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2557

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกไทยในเดือนมีนาคม มีการหดตัวร้อยละ -3.12 ต่อปี จากที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.43 ต่อปี ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสแรกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1 ต่อปี ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าการส่งออกไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้อย่างที่คาดหวังไว้ในช่วงร้อยละ 4 - 6 ต่อปีได้หรือไม่ และเหตุใดการส่งออกไทยถึงขยายตัวในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน-5 (ไทย มาเลเซีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) โดยเฉพาะการส่งออกของมาเลเซียและฟิลิปปินส์ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ขยายตัวถึงร้อยละ 12.3 และ 16.5 ต่อปี ตามลำดับ

ทางด้านปัจจัยสำคัญอย่างทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคการส่งออกนั้น เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.6 จากร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งก่อน แต่ยังคงมุมมองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไว้ที่ระดับเดิม ชี้ให้เห็นว่า ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรปจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของการส่งออกในปีนี้

ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้การส่งออกของประเทศในอาเซียน-5ขยายตัวได้ดี แต่ทำไมการส่งออกของไทยกลับดูไม่สดใสนัก

หากจำแนกสินค้าส่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ได้แก่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าพลังงานและเหมืองแร่ และพิจารณาอัตราการขยายตัวรวมถึงสัดส่วนมูลค่าการส่งออกจะพบว่า ในไตรมาสแรกของปี มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยหดตัวร้อยละ -5.41 ต่อปี โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกทั้งหมด สินค้าอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 1.47 สัดส่วนร้อยละ 76.1 และสินค้าพลังงานและเหมืองแร่ หดตัวร้อยละ -18.04 ต่อปี มีสัดส่วนร้อยละ 6.4 เนื่องจากโรงกลั่นมีการปิดซ่อมบำรุง ซึ่งกำหนดการจะไม่ตรงกันในแต่ละปี

"จะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัว เป็นตัวการหลักที่ทำให้การส่งออกของไทยเดินเครื่องได้ไม่เต็มที่ ซึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ความต้องการสินค้าเกษตรที่ลดลงโดยเฉพาะยางพารา สิทธิพิเศษทางภาษีที่หมดลง ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ โรคระบาดในกุ้ง โครงการจำนำสินค้าเกษตรต่างๆ ล้วนกดดันให้การส่งออกในหมวดดังกล่าวลดลง" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างการส่งออกของไทยเทียบกับประเทศในอาเซียน-5 จะเห็นได้ว่า ไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสูงกว่าประเทศอื่น ทำให้ไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านราคา ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านงบประมาณหรือด้านเทคโนโลยีในการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากจะลดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรขั้นต้นแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยอีกทางหนึ่งด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ