ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ขยับกรอบเงินเฟ้อปีนี้มาที่ 2.4-2.8% แรงกดดันด้านราคายังสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 2, 2014 16:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นกว่าที่คาดเล็กน้อยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 ประกอบกับ แรงกดดันด้านราคาสินค้าที่ยังมีโอกาสทยอยขยับขึ้นดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพิจารณาปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 57 ขึ้นมาอยู่ในกรอบ 2.4-2.8% (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ 2.6%) ขณะที่ กรอบคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อาจะขยับสูงขึ้นมาที่ 1.5-1.9% (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ 1.7%)

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.57 อยู่ที่ 2.62% YoY ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 เดือน และคงทิศทางขาขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี แม้สถานการณ์การใช้จ่ายภายในประเทศจะยังอยู่ในช่วงชะลอตัวก็ตาม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดเล็กน้อย มาที่ระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือนที่ 1.75% YoY โดยแรงหนุนมาจากทั้งฝั่งราคาอาหาร และพลังงาน

แม้ราคาพลังงานบางส่วนจะถูกตรึงไว้ที่ระดับเดิมตามแนวนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ แต่ยังคงมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า จากผลของเงินบาทที่อ่อนค่า ภาวะผันผวนของราคาอาหาร รวมถึงทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกที่ยังคงเป็นตัวกำหนดราคาขายปลีกพลังงานในประเทศ

ขณะที่ทิศทางเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี 57 ยังมีโอกาสขยับขึ้น ทั้งนี้ การกำหนดให้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนกลับไปอยู่ที่ระดับ ณ วันที่ 31 พ.ค.57 ที่ 22.63 บาทต่อกก. และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร อาจช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อไว้ได้บางส่วน เนื่องจากมองว่าแรงหนุนเงินเฟ้อยังอาจทยอยเกิดขึ้นมาจากปัจจัยในส่วนอื่นๆ อาทิ ราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซิน/แก๊สโซฮอล์ที่ยังขยับขึ้นตามต้นทุนตลาดโลก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า) ขณะที่ กระบวนการส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมายังราคาสินค้าผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ก็ยังน่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะในฝั่งผู้ผลิตเองก็เผชิญกับราคาต้นทุนสินค้าที่ต่างก็เดินหน้าปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 56 เป็นต้นมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ