ศูนย์วิจัยฯ SCB คาดส่งออกไทยปีนี้โตแต่ 2% พลาดเป้า ปัญหา EU-สหรัฐกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 27, 2014 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทยยังไม่เห็นการฟื้นตัว โดยในเดือนพฤษภาคมยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดสินค้าหลักที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว ทั้งยางพาราที่ยังคงประสบปัญหาราคาตกต่ำ และรถยนต์และส่วนประกอบที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง ทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาด คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 2%

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่อาจกระทบการส่งออกสินค้าของไทยในระยะต่อไป เช่น การระงับความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรป และการถูกปรับลดระดับของไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ให้มาอยู่ในระดับ Tier 3 โดยสหรัฐฯ

วานนี้ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 19.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 2.1%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่การนำเข้าอยู่ที่ 20.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 9.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 808 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การส่งออกไปจีนและญี่ปุ่นยังคงหดตัวต่อเนื่อง การส่งออกไปจีนยังคงหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2014 โดยลดลง 5.7%YOY ในเดือนพฤษภาคม ทำให้การส่งออกไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกของปีลดลง 5.6% ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง โดยลดลงถึง 9.9% ในเดือนพฤษภาคมและเป็นการหดตัวในอัตราที่สูงกว่าเดือนเมษายน (ติดลบ 4.5%) จากความต้องการนำเข้าสินค้าที่ชะลอลงภายหลังการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางด้านการส่งออกไปอาเซียนเดือนพฤษภาคมขยายตัวเพียง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐฯยังคงขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีการส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 6.3% และ 1.1% ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกรถยนต์ช่วง 5 เดือนแรกกลับมาติดลบ เช่นเดียวกับการส่งออกยางที่ยังไม่ฟื้นตัวจากปัจจัยด้านราคา มูลค่าการส่งออกรถยนต์ใน 5 เดือนแรกกลับมาติดลบ 0.1%YOY โดยสาเหตุหลักมาจากการส่งออกไปยังออสเตรเลียและอินโดนีเซียที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยในช่วง 5 เดือนแรกส่งออกรถยนต์ไปออสเตรเลียและอินโดนีเซีย ลดลงราว 23% ขณะที่การส่งออกยางลดลง 27.4% ทำให้การส่งออกยางตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปีลดลงถึง 18% ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนนี้ปรับลดลงเป็นครั้งแรกของปีโดยหดตัว 3.6% โดยเป็นผลจากการส่งออกไปอินโดนีเซียและญี่ปุ่นที่หดตัว 30.1% และ 5.1% ตามลำดับ

การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบยังคงหดตัวในระดับสูง โดยในเดือนพฤษภาคมลดลง 14.8% และ 11.3% ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.33% ด้านดุลการค้าขาดดุล 808 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ดุลการค้าขาดดุลต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ