กสิกรฯคาด GDP ครึ่งปีหลังโต 3.3-4.7% จับตามาตรการศก.ของคสช.เริ่มส่งผล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 30, 2014 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 มีโอกาสจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.3-4.7 เนื่องจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน (สูงขึ้นจากที่เผชิญกับภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งปีแรก) ประกอบกับแรงขับเคลื่อนจากภายในประเทศ และภาคการส่งออก น่าจะสามารถทำงานได้สอดประสานกันมากขึ้น นอกจากนี้ หากสถานการณ์การเมืองในช่วงระหว่างการเดินหน้าปฏิรูปประเทศเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ก็อาจช่วยหนุนบรรยากาศในภาคการท่องเที่ยว และช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจให้ทยอยฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

พร้อมมองว่า นอกจากการเข้ามาบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 จะเป็นกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมืองของไทยแล้ว ยังมีนัยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีด้วยเช่นกัน เนื่องจากคสช.เร่งผลักดันแนวทางแก้โจทย์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจ และวางรูปแบบการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ (Roadmap) เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ทั้งนี้ ผลบวกต่อเศรษฐกิจจากมาตรการของภาครัฐ อาทิ การเร่งอนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการดูแลค่าครองชีพ น่าจะเริ่มทยอยส่งผ่านมาที่ทิศทางการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ขณะที่ความยืดหยุ่นของภาครัฐในการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณ ทั้งในส่วนของรายจ่ายประจำและรายจ่ายด้านการลงทุน ก็น่าจะทำให้มีแรงกระตุ้นเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินภาพรวมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ไว้ที่กรอบร้อยละ 1.8-2.6 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 2.3) โดยจะติดตามรายละเอียดของมาตรการเศรษฐกิจของคสช.ที่น่าจะเริ่มทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า ขณะที่ต้องยอมรับว่า ภาคการส่งออกที่ยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้า ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในเดือนพ.ค.57 ทั้งด้านการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยกำลังวกกลับขึ้นจากจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2/2557 ขณะที่การส่งออกยังเป็นภาคส่วนที่การฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ