โบรกฯมอง Q3/57 ราคายางพ้นจุดต่ำสุดแล้ว-เริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่เห็น 80 บ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 7, 2014 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์                               เป้าหมาย Q3/57
                                               แนวรับ              แนวต้าน
          เอเชีย พลัส                             67                 73.50
          ดีเอส ฟิวเจอร์ส                       65 และ 60           70 และ 75
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                         60                   70
          ธนาคารแห่งประเทศไทย                    60                   70


ฝ่ายวิจัย บล.เอเชีย พลัส(ASP) เชื่อว่า ทิศทางราคายางโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วง Q2/57 และเห็นสัญญาณฟื้นตัวในช่วง Q3/57 โดยประเมินราคาซื้อขายยางแผ่นรมควันล่วงหน้า(อ้างอิงตลาด TOCOM) น่าจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วที่ 173 เยน/กก. และระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวมาที่ระดับ 223 และ 272 เยน/กก. เช่นเดียวกับราคายางไทย คาดว่า จะค่อยขยับขึ้นจาก 67 บาท/กก. สู่ 73.5 บาท/กก.

ปัจจัยสนับสนุนหลักๆ จากความกังวลในเรื่องอุปทานล้นตลาดเริ่มผ่อนคลายลง หลังจากสต็อกยางพาราในเมืองชิงเต่า ประเทศจีน ซึ่งเป็นท่าเรือนำเข้าสินค้าหลักของจีนในเดือน มิ.ย.2557 เริ่มปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน มาที่ระดับ 3.3 แสนตัน ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำเข้าในจีนจะเริ่มสั่งซื้อยางพาราจากไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงปิดกรีดยางตามช่วงฤดูกาล ผนวกกับสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติบริเวณพื้นที่แถบเอเชียแปซิฟิก จากปรากฎการณ์เอลนีโญ จึงทำให้ผลผลิตยางทั่วโลก(รวมทั้งไทย) เห็นการลดลงอย่างมีนัยฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557

นอกจากนี้ สถานการณ์ราคาวัตถุดิบน้ำยางในไทย(ส่วนแบ่งการตลาดยางมากที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วน 34% ของปริมาณผลผลิตยางทั่วโลก) ที่ยังทรงตัวต่ำเพียง 60 บาท/กก. ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตสวนยางใหม่แล้ว ส่งผลให้ชาวสวนยางมีโอกาสที่จะชะลอขยายพื้นที่เพาะปลูกยางใหม่ หรือหันไปเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทดแทน ดังนั้นหากราคายังคงตกต่ำต่อเนื่องเช่นนี้ แนวโน้มผลผลิตน้ำยางของไทยน่าจะออกสู่ตลาดน้อยลงในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

ฝ่ายวิจัยฯ มองว่า ราคายางคาดว่าจะพบจุดต่ำสุดไปแล้วที่ 60 บาท และน่าจะฟื้นตัวเพื่อทดสอบ 73.50 บาท:ระดับราคายางปัจจุบันอยู่แถวบริเวณ 69 บาท หลังสามารถฟื้นตัวขึ้นมาจาก 60 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี จากภาพการเคลื่อนไหวระยะยาว ราคาได้แกว่งขึ้นสุดลงสุดและพบ Bottom ไปแล้วที่ 60 บาท นับจากนี้น่าจะเกิดการฟื้นตัวในระยะสั้น ซึ่งน่าจะไปได้ถึง 73.50 บาท

กลยุทธ์การลงทุน AFET Rubber:รอเปิด Long เมื่อราคาลงทดสอบ 68 บาท เพื่อลุ้นทำกำไรที่ 73.50 บาท

  • RSS3 FEB 15 มองราคาไม่น่าที่จะกลับไปทดสอบ 60 บาทอีกแล้ว โดยให้รอเปิด Long ที่ระดับ 67 บาท และถือไป ปิดทำกำไรที่ 73.5 บาท ทั้งนี้ควรตั้งจุดตัดขาดทุนที่ 64.00 บาท
  • STR20 Jul 14 แนวโน้มราคาน่าจะเคลื่อนไหวแบบ sideway up หลังจากผ่านจุดต่ำสุดที่ 53.95 บาท เชื่อว่าราคาจะขึ้นต่อเพื่อทดสอบ 58 บาท หากผ่านได้แนะนำเปิดสถานะ Long มีเป้าหมายทำกำไรที่ระดับราคา 64 บาท และตัดขาดทุนหากราคาลงต่ำกว่า Low เดิมที่ 53.95 บาท

ด้านนายธนเสฎ ดีประเสริฐกุล นักวิเคราะห์ บริษัท ดีเอส ฟิวเจอร์ส จำกัด มีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางราคายางในช่วงไตรมาส 3 โดยมองว่าราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อทดสอบแนวต้านแรกที่ระดับ 70 บาท/กก.และแนวต้านถัดไปที่ระดับ 75.00 บาท/กก. ปัจจัยที่จะสนับสนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคายาง ประกอบด้วย ภาพรวมเศรษฐกิจโลกน่าจะมีสัญญาณการฟื้นตัว สหรัฐอเมริกาเริ่มดี ตลาดแรงงานเริ่มฟื้นซึ่งจะกระตุ้นการบริโภค, ญี่ปุ่นลดภาษีนิติบุคคลให้ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% จาก 35% ภายในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการขายทำให้ดัชนีภาคบริการญี่ปุ่นเดือน มิ.ย.ปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

จีนมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลจีน ทำให้คาดว่าอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจของจีนปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ 7.5% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายขณะเดียวกัน จีนยังคงมีการใช้ยางในสต๊อกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยในประเทศ ต้องรอดูแผนกระตุ้นการใช้ยาง ไม่ว่าจะนำไปทำแบริเออร์เขื่อนที่เชียงใหม่ ทำถนน ซึ่งเป็นแผนงานที่ออกมาแต่ยังไม่ได้เริ่มทำ แต่พอจะกระตุ้นราคาได้

ส่วนศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าราคายางน่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 60-70 บาท/กก.ต่อไปซึ่งเป็นระดับราคาเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินไว้ เนื่องจากจีนยังคงใช้ยางในสต็อกที่เมืองชิงเต่าที่ยังมีเหลือค่อนข้างสูง จึงอาจจะยังไม่มีการสั่งซื้อยางจากไทยในระยะใกล้นี้ ประกอบกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนคงจะเน้นไปที่การรักษาสมดุลของเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าเพื่อไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ ส่วนญี่ปุ่นกรณีลดภาษีนิติบุคคลเพื่อประคองให้ภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว และเน้นการออกไปลงทุนนอกประเทศมากกว่าที่จะลงทุนภายในประเทศ

ขณะที่ปัจจัยเรื่องความกังวลสถานการณ์ตะวันออกกลางคงไม่ได้หนุนให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากกำลังผลิตน้ำมันจากที่อื่นมาชดเชย ขณะที่สถานการณ์ในอิรักก็ไม่ได้กระทบพื้นที่การผลิตน้ำมันเท่าไหร่นัก จึงมองว่าราคาน้ำมันน่าจะมีทิศทางทรงตัว และคอยประคองราคายางไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ