ผู้ว่าฯธปท.-SMEs ขานรับกม.หลักประกันทางธุรกิจเชื่อหนุน ศก.ให้เข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 9, 2014 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้ไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจริงหรือ" โดยมองว่า ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ถือเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นรายกลางและรายย่อย(SMEs) ที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ แต่ติดขัดในเรื่องข้อจำกัดทางเครดิต โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีการเพิ่มรูปแบบของทรัพย์สินที่จะมาใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงิน เช่น เครื่องจักร, สินค้าคงคลัง, วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเช่นกัน จากเดิมที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันอยู่เพียง 2 รูปแบบ คือ การจำนำ และการจำนอง

ผู้ว่าฯ ธปท.มองว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่ถึง 2 ล้านราย จากจำนวน SMEs ทั้งหมดในประเทศกว่า 2.7-2.9 ล้านราย ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ได้ โดยมีผู้ประกอบการเพียง 7-9 แสนรายเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นจึงต้องการเห็นผู้ประกอบการเหล่านี้มีช่องทางในการเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในภาพรวมเศรษฐกิจได้ดี เพราะธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศได้ถึง 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของจีดีพี มีการจ้างงานถึง 11 ล้านคน ซึ่งธุรกิจ SMEs เหล่านี้ยังมีส่วนในการช่วยเกื้อหนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในหลายภาคส่วน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะเดียวกันการมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะช่วยให้สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย เพราะสามารถลดความกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ลงได้

ด้านนางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEs ต่างรอคอยกฎหมายฉบับนี้มาเป็นเวลานานมากแล้ว เพราะที่ผ่านมาการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs มีอุปสรรคค่อนข้างมากเนื่องจากการขาดหลักประกัน และหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะนำมาใช้สำหรับการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ จากร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ที่ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถนำหลักประกันอื่นๆ มาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันการขอสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือสินค้าสำเร็จที่รอการจำหน่าย ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือแม้กระทั่งสิทธิเรียกร้องต่างๆ เช่น สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ สิทธิในการเช่าก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันได้เช่นกัน

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา เชื่อมั่นว่า กฏหมายหลักประกันทางธุรกิจจะเป็นเครื่องมือทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็งขึ้นได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินในการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้น และต้องเกิดความเป็นธรรม สามารถตอบโจทย์ให้กับสังคมได้ โดยเฉพาะเรื่องของข้อความในสัญญาที่คู่สัญญาต้องได้รับความเป็นธรรมและเสมอภาค และหากกฏหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็ควรจะให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแลรูปแบบของสัญญา

พร้อมมองว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมผุ้ประกอบธุรกิจในการเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อสามารถบังคับคดีหรือเร่งการชำระหนี้ได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี นายสุรชัย แสดงความเป็นห่วงในบทบาทของผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งทำหน้าที่เสมือนผู้พิพากษาหรือเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ควรวางบทบาทให้เหมาะสม ไม่สร้างปัญหาใหม่ พร้อมทั้งแนะนำว่ากฏหมายฉบับนี้ควรเน้นการเข้าไปฟื้นฟูกิจการ SMEs ที่มีปัญหามากกว่าการเข้าไปยึดกิจการเหล่านั้นในกรณีที่ผิดนัดชำระหนี้

ขณะที่ นายกำชัย จงจักรพันธ์ ประธานกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฏหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ยืนยันว่า จะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ทันทีหากมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติในสมัยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และเชื่อว่าการที่ คสช.ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบธุรกิจ SMEs โดยยกให้การส่งเสริมธุรกิจ SMEs เป็นวาระแห่งชาตินั้นจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ร่างกฏหมายฉบับบนี้ผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ได้ในอีกไม่นาน หลังจากที่มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มาตลอดเกือบ 20 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ