กกพ.เตรียมเสนอ กพช.ผลักดันนำมาตรการ Demand Response ใช้ถาวร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 10, 2014 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ในช่วงเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซจากแหล่ง JDA – A18 ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย. –10 ก.ค. 57 ว่า จากการรณรงค์ขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Period) ตามมาตรการดังกล่าว ปรากฏว่ามีภาคอุตสาหกรรมแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการจำนวน 430 ราย เสนอจะลดความต้องการได้ 247.07 เมกะวัตต์ โดยเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.57 กกพ.ได้มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าชดเชยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัดที่ติดตั้งมิเตอร์ระบบการอ่านหน่วยอัตโนมัติ (Automatic Meter Reading – AMR) ในอัตรา 4 บาทต่อหน่วย

จากการติดตามผลการลดใช้ไฟฟ้าตามมาตรการ Demand Response พบว่า สามารถลดได้สูงสุด จำนวน 47.88 เมกะวัตต์ในวันที่ 3 ก.ค.57 จากที่ได้ตั้งเป้าการลดใช้ไฟฟ้าไว้ที่ 247.07 เมกะวัตต์ ซึ่งสาเหตุที่ไม่สามารถลดไฟได้ตามเป้าที่วางไว้ เนื่องจากการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดการผลิตของอุตสาหกรรมในภาคใต้เพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงการรับชมการถ่ายทอดสดในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำ

สำหรับประมาณการผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) นั้น ในการประมาณการค่าไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 57 ได้รวมต้นทุนค่าเชื้อเพลิงดีเซล และน้ำมันเตา ที่ต้องใช้รองรับเหตุการณ์การหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่ง JDA-A18 ระหว่างวันที่ 13 มิ.ย. – 10 ก.ค. 57 ไว้แล้วประมาณ 1,001.63 ล้านบาท โดยคิดเป็นส่วนหนึ่งในค่า Ft จำนวน 1.76 สตางค์ต่อหน่วย

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ JDA-A18 หยุดจ่ายก๊าซจริงที่ผ่านมา เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในภาคใต้ซึ่งอาจกระทบต่อความไม่มั่นคงของประเทศ ประกอบกับประเทศมาเลเซียมีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลือในช่วงเวลาดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงมีความจำเป็นต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทุกโรงที่มีอยู่ในภาคใต้อย่างเต็มที่และซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเพิ่มเติม

ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิดรวมทั้งมีการรณรงค์จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทำให้การใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีปริมาณสูงกว่า 2,300 เมกะวัตต์ เพียง 6 วันเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ว่าจะมีมีการใช้ไฟฟ้าสูงกว่า 2,300 เมกะวัตต์ จำนวนถึง 24 วัน โดยมีการใช้น้ำมันเตาจำนวน 38.49 ล้านลิตร น้ำมันดีเซล 9.81 ล้านลิตร และซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย 20.20 ล้านหน่วย แบ่งเป็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิง น้ำมันเตาและดีเซล 1,005.17 ล้านบาท ต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย 140.25 ล้านบาท และเมื่อรวมกับประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าของผู้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.-7 ก.ค. 57 จำนวน 7.6 ล้านบาทแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งสิ้นประมาณ 1,153.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นค่า Ft เท่ากับ 2.02 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มจากประมาณการเดิมจำนวน 0.26 สตางค์ต่อหน่วย แต่สำหรับ Ft ที่จะเรียกเก็บจริงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นประกอบด้วย

ด้านนางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึงการนำมาตรการ Demand Response มาใช้ในครั้งนี้ถือว่าเป็นระยะเริ่มต้น และปรากฏผลว่ามีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงจากวิกฤติพลังงานในครั้งนี้ได้ โดยหลังจากนี้ กกพ. จะเดินหน้าผลักดันให้มาตรการ Demand Response เป็นมาตรการที่ถาวร โดยจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์หยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี และมีแนวโน้มที่จะมีความถี่และรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีตราบใดที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หลักการบริหารจัดการความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด (Demand Response) เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้ไฟฟ้า ที่สามารถตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินการในอดีตที่ใช้วิธีการประมาณความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าและความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด เพื่อนำมาวางแผนการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ให้มีกำลังการผลิตที่เพียงพอและมีปริมาณกำลังไฟฟ้าสำรองในระดับที่กำหนด แต่ในปัจจุบันการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เริ่มมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้านมากขึ้น โดย กกพ. หวังผลักดันให้เป็นมาตรการที่ถาวรในอนาคตที่จะลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 2,000 เมกะวัตต์ แนวคิดในการนำมาตรการ Demand Response มาใช้ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ กกพ.เห็นว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และสามารถดำเนินการได้ทั้งในภาวะปกติและในเหตุการณ์การหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติได้ในอนาคต

นอกจากนี้ กกพ. ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งประกอบด้วย แม่ทัพภาคที่ 4 ทีมงานกองทัพบก ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานพลังงานจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเขตภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมอุตสาหกรรมโรงแรมและผู้ประกอบกิจการโรงแรมภาคใต้ ตลอดจนประชาชนภาคใต้ทั้งหมด ที่ได้ให้ความร่วมมือลดใช้ไฟฟ้าทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติพลังงานของภาคใต้ในครั้งนี้ไปได้อย่างราบรื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ