เงินบาทปิดตลาด 32.13/15 ทรงตัวเท่าช่วงเช้า รอฟังนโยบายการเงินของ FED

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2014 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.13/15 บาท/ดอลลาร์ ในระดับเดียวกับเปิดตลาดช่วงเช้า แต่ระหว่างวันเงินบาทไปทำไฮที่ระดับ 32.18 บาท/ดอลลาร์ และเคลื่อนไหวตามภูมิภาค
"หลังเปิดตลาดมีแรงซื้อเข้ามาจนไปทำไฮที่ 32.18(บาท/ดอลลาร์) แต่ไม่ไปถึง 32.20(บาท/ดอลลาร์) พอตกบ่ายก็ขายดอลลาร์ออกมา เงินบาทก็ปรับตัวลงมาอยู่แถวที่เดิม" นักบริหารเงิน กล่าว

ตลาดจับตาดูกรณีที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(FED) จะแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรสในวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) ว่าจะมีประเด็นใดบ้าง

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.10-32.20 บาท/ดอลลาร์เช่นเดิม

"ถ้าไม่มีอะไรตื่นเต้นพรุ่งนี้น่าจะยังอยู่ในกรอบ 32.10-32.20(บาท/ดอลลาร์)" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.56 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 101.59 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3597 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3620 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,524.53 จุด ลดลง 4.70 จุด, -0.31% มูลค่าการซื้อขาย 41,400.52 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,591.65 ล้านบาท(SET+MAI)
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดำเนินนโยบายการเงินของง ธปท.ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงให้น้ำหนักในเรื่องการพัฒนาด้านการเงินระหว่างประเทศ ควบคู่กับการดูแลอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(GDP)และอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในขณะนี้ยังดูแลความเสี่ยงของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทขณะนี้ ธปท.มองว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการลงทุน แต่ในอนาคตก็ต้องการเห็นการขยายตัวด้านการส่งออกมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องค่าเงินบาท

  • นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้มีโอกาสเคลื่อนไหวทั้ง 2 ทิศทางรับปัจจัยภายนอก ซึ่งต่อจากนี้ไปยังคงต้องจับตาปัจจัยภายนอก เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจในจีน ตลอดจนทิศทางและนโยบายของกลุ่มประเทศหลัก เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นประเด็นที่ส่งผลให้ค่าเงินครึ่งปีหลังมีโอกาสจะเคลื่อนไหวไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ขณะที่ปัจจัยสำคัญในประเทศที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของอุปสงค์ การส่งออก ตลอดจนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการเดินหน้าปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ

สำหรับภาวะตลาดการเงินไทยในช่วงครึ่งปีแรก ธปท.รายงานว่า ช่วงต้นปีนักลงทุนมีความกังวลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งความเสี่ยงจากกรณีความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งปัจจัยนี้ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกค่อนข้างมาก

ส่วนค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกปรับแข็งค่าขึ้น 1.3% จากสิ้นปีก่อน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาค โดยรวมเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพแม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยช่วงต้นปีเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากความกังวลเรื่องความไม่สงบทางการเมืองและความกังวลต่อเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ด้านเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติช่วงครึ่งปีแรกเป็นการไหลออกสุทธิ แต่จากเดือน มิ.ย.เริ่มเห็นการไหลกลับเข้ามาบ้าง โดยเงินลงทุนในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไหลออกสุทธิประมาณ 42,000 ล้านบาท และ 41,000 ล้านบาทตามลำดับ และสัดส่วนการถือครองพันธบัตรภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ 9.7% จากระดับ 10.34% ณ สิ้นปี 56

  • นายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีมติเห็นชอบรายละเอียดในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 58 โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาทจากปีงบประมาณ 57 หรือเพิ่มขึ้น 2% เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ที่ 250,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงสร้างรายจ่ายประจำมีสัดส่วนที่ 78.7% ต่ำกว่าปีงบประมาณ 57 ซึ่งอยู่ที่ 79.9% ส่วนรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังอยู่ที่ 41,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,541 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.6% สูงกว่าปี 57 ซึ่งกำหนดไว้ที่ 0.5% ส่วนรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 45,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,981 ล้านบาทจากปี 57 หรือเพิ่มขึ้น 2% และคิดเป็นสัดส่วน 17.5% เท่ากับปีงบประมาณ 57 ส่วนรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้อยู่ที่ 55,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,878 ล้านบาทจากปี 57 หรือเพิ่มขึ้น 5.4% คิดเป็นสัดส่วน 2.2% สูงกว่าปี 57 ที่กำหนดไว้ที่ 2.1%

  • ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปภาพรวมอัตราเงินปันผลตอบแทน (Market Dividend Yield) ของตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) เทียบกับตลาดในภูมิภาค ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อัตราเงินปันผลตอบแทนของ SET และ MAI ลดลงจากเดือนก่อนหน้าโดยอยู่ที่ 3.11% และ 1.46% ตามลำดับ
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป หรือ ZEW ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีลดลงแตะ 27.1จุด ในเดือน ก.ค.จากระดับ 29.8 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดทรงตัวในวันนี้ หลังตลาดแทบไม่มีปฏิกริยาต่อผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 334 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.535% ทรงตัวจากระดับปิดเมื่อวานนี้ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ก.ย. ปรับตัวขึ้น 0.03 จุด แตะที่ 145.88 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงร่วงลง 108 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 12,122 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง เทียบเท่ากับ 1,311.27 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 11.68 ดอลลาร์สหรัฐ

แท็ก เงินบาท   FED  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ