สศช.คาดส่งออก H2/57 ฟื้นโต 6-7% รับ ศก.โลกฟื้น-บาทอ่อน ดัน GDP ทั้งปีโตได้ 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 21, 2014 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวได้ในระดับ 3% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 1.5-2.5% เนื่องจากประเมินว่าครึ่งปีหลังการส่งออกจะฟื้นขึ้นมาเติบโตในระดับสูงถึง 6-7% ซึ่งจะทำให้การส่งออกทั้งปีนี้ขยายตัวได้ราว 3-5% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้อีกประเด็นหนึ่งคือรับผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตัวอ่อนค่า

สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามองในครึ่งหลังของปี คือ เรื่องของการส่งออกที่ได้รับแรงผลักดันของเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่นัยเรื่องของการลดความสัมพันธ์ของสหภาพยุโรป(อียู)จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจหรือความร่วมมือระหว่างเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากยังไม่ได้มีการห้ามธุรกิจและธุรกรรมระหว่างประเทศ หรือกีดกันทางการค้าโดยตรง

แต่กรณีดังกล่าวอาจทำให้ข้อตกลงทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างประเทศชะลอออกไป ซึ่งหากไม่มีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีก่อนถูกยกเลิกสิทธิพิเศษ GSP จะส่งผลให้ภาคธุรกิจส่งออกไทยเสียภาษีขาเข้าในอัตราปกติ ทำให้ต้นทุนการส่งออกของไทยไปยุโรปสูงขึ้น และอาจสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน

สำหรับสินค้าที่ถูกยกเลิก GSP ในสิ้นปี 57 มีจำนวน 50 รายการ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 723 รายการในปี 58 โดยสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP ได้แก่ รถบัสและรถบรรทุก, เลนส์ที่ทำด้วยวัสดุอื่นๆ(พลาสติก), เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่าง, ถุงมือยาง, กุ้งแปรรูป และรถจักรยานยนต์ ขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเนื่องจากอียูเป็นตลาดส่งออกหลัก คือ เลนส์ฯ มีสัดส่วนของการส่งออกไปอียูทั้งหมด 45.8% และรถจักรยานยนต์ สัดส่วน 41.4%

นายปรเมธี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาติดลบ 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยภาคการบริโภค การลงทุนและการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากที่สุดจกาสถานการณ์ทางการเมือง จากนั้นเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 2/57 โดยเฉพาะเดือน มิ.ย.57 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือนมาอยู่ที่ 75.1 เพิ่มขึ้นจาก 70.7 ในเดือน พ.ค.57 ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 65.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน เนื่องด้วยมีความมั่นใจต่อสถานการณ์ในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้น

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยลงสู่ระดับ Tier 3 นั้น สินค้าที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และสินค้าส่งออกมีประมาณ 5.3% ของการส่งออกรวมของไทย ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องนุ่งห่ม, น้ำตาลทราย และกุ้ง โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการกีดกันการส่งออกไปสหรัฐฯ คือ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านเหรีญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 24.5% และกุ้ง ที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 941 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 35.4% ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด

นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ยังเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จะเป็นลักษณะของการค่อยๆ ฟื้นขึ้น จากนั้นจะเริ่มกลับมาขยายตัวในระดับที่ดีได้ อย่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นได้จากที่มีการดำเนินการลดมาตรการ QE สะท้อนเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยไทยก็จะได้รับอานิสงสฺ์จากการส่งออกสินค้าไทยไปด้วย

"ปีนี้มองว่ายังเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จะไม่เร็วมากนัก และจะเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในระดับที่ดีขึ้น โดยมองเรื่องของการที่สหรัฐฯลด QE นับว่าเป็นข่าวดี เนื่องด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งขึ้น ซึ่งจะไม่มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจนกว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ โดยรวมยังคิดว่าการลด QE เป็นสัญญาณที่ดี"นายปรเมธี ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ