SMEs Bank มั่นใจปี 58 ยอดสินเชื่อใหม่โต 12%ตามเป้าหลังเดินตามแผนฟื้นฟู

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 9, 2014 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SMEs Bank) หรือ ธพว. เปิดเผยว่า ในปี 2558 ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อใหม่ตามแผนฟื้นฟูที่เสนอให้กระทรวงการคลัง ประมาณ 2.5 เท่าต่อจีดีพี หรือ 12% ซึ่งคิดเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทจากสินเชื่อรวม จากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ราว 4-5% โดยเชื่อมั่นว่าเมื่อธนาคารได้ทำตามแผนฟื้นฟูจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามแผนอย่างแน่นอน
"ปีหน้าเราตั้งเป้าว่าสินเชื่อใหม่สุทธิจะเติบโตที่ 12% หรือคิดเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท จากสินเชื่อที่ปล่อยได้จริง 3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันธนาคารได้ทำการปรับโครงสร้างลูกหนี้ รวมถึงมีการจัดหน่วยงาน Loan Operation เพื่อติดตามดูแลความสะดวกให้ลูกค้าภายหลังจากที่ธนาคารได้ให้สินเชื่อไปแล้ว" นางสาลินี กล่าว

นางสาลินี กล่าวอีกว่า ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมายังทรงตัว แต่ถือว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากจากช่วงต้นปีก่อนจนถึงช่วงที่คณะกรรมการธนาคารชุดใหม่เข้ามาทำให้เกิดสูญญากาศในการดำเนินการ การปล่อยสินเชื่อต่างๆ ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยหลังจากนี้ธนาคารได้มีการปรับปรุงกระบวนการปล่อยสินเชื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและลดความซับซ้อนลง โดยจากเดิมต้องใช้เวลาในการพิจารณาสินเชื่อ สำหรับลูกค้าที่ขออนุมัติรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท อยู่ที่ 30 วัน โดยปรับลดลงเหลือ 14 วัน หรืออาจปรับลดลงให้อยู่ที่ระดับ 10 วัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายย่อยที่มีหลักประกันไม่ซับซ้อน ทำให้การดำเนินการตรวจสอบง่ายขึ้น

นอกจากนี้ คาดว่าตัวเลขเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) ของธนาคารในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% หากสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ตามแผนที่วางไว้ รวมถึงการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านี้เอสเอ็มอีแบงก์ได้ส่งแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว และกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ธนาคารเร่งทำ Due diligence เสนอให้พิจารณาภายใน 3 เดือน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางพ.ย.นี้ เพื่อให้ทราบถึงสถานะที่แท้จริง และแนวโน้มความเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องมีการเชิญผู้สอบบัญชีจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำตัวเลขด้วย โดยบริษัทที่จะเข้ามารับผิดชอบในส่วนนี้จะต้องได้รับการอนุมัติตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย

สำหรับในปีนี้ธนาคารมีแผนจะนำหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ที่สำรวจแล้วพบว่าไม่ได้มีการดำเนินกิจการแล้ว จำนวน 2 หมื่นล้านบาท จากหนี้ NPL ทั้งหมด 3.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ออกมาประมูลขายทอดตลาด ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้หนี้เสียของธนาคารปรับลดลงในที่สุดด้วย รวมถึงจะมีการขอชดเชยจากโครงการที่ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐ ซึ่งมีมูลค่าหลักพันล้านบาทด้วย โดยสินเชื่อตามนโยบาย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ได้รับการชดเชย ทั้งภัยการเมือง ไฟไหม้ อุทกภัยขนาดใหญ่ และ 2.ไม่ได้รับการชดเชย เช่น สินเชื่อในโครงการไทยเข้มแข็ง, สินเชื่อที่ป้องกันไม่ให้มีการเลิกจ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ