รมว.พลังงาน เดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน หนุนราคาปรับตามจริงใน 1 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2014 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน ยืนยันเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาก๊าซ LPG และ NGV ที่มีโอกาสทำให้ราคาพลังงานลอยตัวตามกลไกตลาดได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี หรือภายในงบประมาณปี 58(ต.ค.57-ก.ย.58) หลังจากที่ราคาพลังงานถูกมานาน อาทิ ดีเซล และ LPG แต่หากมีการปรับเปลี่ยนราคาเร็วเกินไปอาจเกิดผลกระทบรุนแรงได้
"เราจะส่งสัญญาณใหม่ออกไป ราคาที่ผ่านมาไม่เป็นธรรม ต้องให้เวลาปรับตัว ระยะเวลา 1 ปีจะค่อยๆ ขยับขึ้นไป ภาษีน้ำมันเบนซินจะลง ภาษีดีเซลจะต้องขึ้น จะทำให้แนวโน้มราคาขายปลีกราคาเบนซิน รวมแก๊สโซฮอล์ลดลง ราคาดีเซลก็จะขึ้น" นายณรงค์ชัยกล่าว

ขณะเดียวกันภายในปีงบประมาณ 58 จะได้เห็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 โรง เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำลง จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นพลังงานหลัก

นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องเร่งหาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งได้ตั้งทีมทำงานระหว่างไทยกับกัมพูชาเรื่องนี้แล้วก่อนนำไปสู่การเจรจาร่วมกัน ขณะที่พม่าก็เป็นแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของไทยอย่างยิ่ง โดยในระยะเวล่า 20 ปีที่ผ่นมา ไทยนำเข้าพลังงานจากพม่ามูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเยือนประเทศเมียนมาร์ ช่วงวันที่ 9-10 ต.ค.นี้จะหารือเรื่องความร่วมมือพลังงานด้วย โดยไทยเข้าไปลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว นอกจากนี้กลุ่ม ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(EGAT) เข้าไปลงทุนในเมียนมาร์อยู่มาก รวมทั้งจะมีการตกลงกรอบเอ็มโอยูสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าไทย-พม่า กำลังผลิต 1 หมื่นเมกะวัตต์ที่จะหมดอายุ โดยจะมีการต่ออายุรอบใหม่และการจัดตั้งคลัง LNG ในฝั่งเมียนมาร์

อย่างไรก็ดี เมียนมาร์เปิดประเทศมากขึ้นก็มีความต้องการใช้พลังงานมากขื้น การสำรวจและผลิตของไทยก็จะให้เมียนมาร์ใช้ก่อนที่เหลือจะกลับมาเข้าไทย ส่วนในประเทศไทยนั้นจะมีการเปิดประมูลสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 ให้ได้ภายในงบปี 58

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แผนงานในปีงบ 58 คาดว่าในช่วงเดือน ต.ค.-ธค.57 หรือไตรมาสแรกของงบปี 58 แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 20 ปี(PDP) จะแล้วเสร็จ หลังจากได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศแล้ว โดยจะผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น และมีสัดส่วน 30 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมกับกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแรก รวมทั้งแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนการจัดหาเชื้อเพลิงสรุปได้ในช่วง ตค.-ธ.ค.นี้เช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าต้นธ.ค.จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)

ส่วนกรณีที่มีการตรวจสอบผลประมูลโรงไฟฟ้า IPP ที่กลุ่มกัลฟ์ประมูลได้ทั้ง 5 แห่งของคณะกรรมการการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ยอมรับว่า จะมีผลกระทบต่อการทำแผน PDP

นอกจากนี้ตามกรอบแผนงานในไตรมาสแรกปีงบ 58 จะมีความชัดเจนนโยบายสัมปทานรอบที่ 21 รวมทั้งนโยบายการต่ออายุโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่(IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ส่วนพลังงานทดแทนจะผลักดันโรงไฟฟ้าขยะ และเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ครบ 2 พันเมกะวัตต์

ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากที่ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือ Regulator ได้นำเสนอให้รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP โรงไฟฟ้า SPP และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) ที่กำลังหมดอายุ และเป็นโรงไฟฟ้าที่ยังผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกกว่าที่จะลงทุนใหม่ ทั้งนี้ได้ให้ทาง Regulator ดูในรายละเอีดยใน 1 เดือน หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอต่อ กพช.

ส่วนการเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 ที่ได้ล่าช้าออกไป รวมทั้งการต่ออายุแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 65 ต้องรอการพิจารณาของ กพช. โดยในช่วง ม.ค.-มิ.ย.58 จะประเมินทรัพยากรแปลงสัมปทานที่หมดอายุ และในช่วง เม.ย.- ก.ย.58 จะพิจารณาคำขอสัมปทาน และพิจารณาสัมปทานที่หมดอายุปี 65

นอกจากนี้ ในช่วงงบปี 58 กระทรวงพลังงานมีแผนงานกำกับการขยายสถานี NGV ของ ปตท., การกำกับการลักลอบ LPG และการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน

สำหรับในไตรมาส 2 ของงบปี 58(ม.ค.-มี.ค.58) ตั้งเป้าเซ็นเอ็มโอยูความร่วมมือด้านพลังานระหว่างไทย-เมียนมาร์ และ ไทยกับกัมพูชา และช่วงนี้เริ่มผลักดันให้แผน PDP สู่การปฏิบัติจริง รวมถึงศึกษาการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งการแยกท่อก๊าซธรรมชาติ และ ประกาศใช้ TPA (Third Party Asset) Code ในช่วงเวลาไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 ของปีงบ 58


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ