(เพิ่มเติม1) เวิลด์แบงก์ คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 โต 1.5%, ปี 58 โตราว 3.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 6, 2014 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กิรฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 1.5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.0% โดยการส่งออกยังหดตัวลงต่อเนื่องจากความอ่อนแอของภาคสินค้าและบริการ โดยคาดว่าการส่งออกปีนี้จะโตได้เพียง 0.7% และการนำเข้าหดตัว 5.1%

ทั้งนี้ ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าอุปสงค์ในประเทศจะฟื้นตัวได้ช้าๆ จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศตั้งแต่พ.ย.56 นอกจากนี้การจ่ายเงินในโครงการจำนำข้าว 9 หมื่นล้านบาท ยังส่งผลบวกต่อการบริโภคในประเทศในเดือนต่อๆ มา

"เวิลด์แบงก์คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตได้ 1.5% ลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ว่าจะเติบโตได้ 3% เหตุผลหลักๆ มาจากการบริโภค การลงทุน และการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังไม่ฟื้นตัวได้เร็วตามคาด" น.ส.กิรฎา กล่าว

อย่างไรก็ดี มองว่าในช่วงครึ่งปีหลังอุปสงค์ภายในประเทศจะเติบโตได้ 1% เนื่องจากการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนที่เริ่มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่คาดว่าการบริโภคภาคครัวเรือนยังขยายตัวอย่างจำกัดที่ 2% ในช่วงครึ่งปีหลัง เป็นผลจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงกว่า 80% ของ GDP ในช่วงท้ายของครึ่งปีแรก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ที่ 1.5% เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังคงตัวอยู่ที่ 60.6% ในเดือนมิ.ย.

"การฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ น่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการจ่ายเงินค้างชำระโครงการรับจำนำข้าวเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมูลค่าเกือบ 1% ของ GDP" น.ส.กิรฎา กล่าว

ส่วนแนวโน้มในปี 58 นั้น มองว่าภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐจะมีโอกาสเติบโตได้ดี โดยการส่งออกภาคบริการ(การท่องเที่ยว)ปีหน้า คาดว่าจะเติบโตได้ 11% ซึ่งแม้จะลดลงจากที่เคยเติบโตได้สูงถึงประมาณ 20% ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีแล้ว เพราะต้องยอมรับว่ายังอาจมีความไม่มั่นใจจากนักท่องเที่ยวบางกลุ่มในการเดินทางมาประเทศไทย ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้น คาดว่าปีหน้าจะโตได้ 10% ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากปีนี้ที่ติดลบ 2% ซึ่งหากรัฐบาลสามารถผลักดันงบรายจ่ายลงทุนได้ในระดับปกติที่ 75-80% แต่หากสามารถทำได้มากกว่า 80% ขึ้นไปก็อาจจะเห็นการลงทุนภาครัฐเติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

Mr.Urich Zachau ผู้อำนวยการ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย คาดว่า ในปี 58 เศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวได้ 3.5% เป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

นอกจากนี้การฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนจะส่งผลด้านบวกต่อการนำเข้าหลังจากที่ประสบภาวะถดถอยในช่วงปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 58 ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงเหลือ 12,700 ล้านดอลลาร์ จากที่คาดว่าในปี 57 จะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 16,000 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐน่าจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ และการดำเนินโครงการลงทุนระบบคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่คาดว่าจะเริ่มในต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจของสหรัฐและยุโรปฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปี 58 เติบโตได้สูงกว่าในปีนี้ ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องหากสถานการณ์ทางการเมืองยังมีเสถียรภาพเช่นนี้ต่อไป

สำหรับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และความสามารถในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ จะถูกจับตามองย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะมีผลต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ภายหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว แต่ละกระทรวงต่างได้นำเสนอนโยบายด้านต่างๆ เช่น การปฏิรูปภาษี, นโยบายด้านพลังงาน และโครงการช่วยเหลือเกษตรกรหลายโครงการ ดังนั้นการนำนโยบายไปปรับใช้และดำเนินการ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณในปี 58 และการดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ มองว่าปัจจัยภายนอกในเรื่องความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจส่งออกของไทยยังต้องมีการทบทวนหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างจริงจัง

ผอ.ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ยังเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใน 2 เรื่อง คือ กรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ในวงเงิน 40,000 ล้านบาท และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 57 ของส่วนราชการที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีก 1.47 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะขยายเวลาการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจากเดิมที่จะสิ้นสุด 30 ก.ย. ไปเป็น 31 ธ.ค.57 นั้น ใน 2 มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจให้เติบโตได้ แต่อย่างไรก็ดีอาจจะเป็นเพียงการช่วยกระตุ้นในระยะสั้นเท่านั้น แต่ระยะยาวประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการพัฒนาในเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนคุณภาพการศึกษา และทักษะฝีมือแรงงานควบคู่ไปด้วย

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโบายเรื่องการปฏิรูปภาษี โดยหนึ่งในนั้นคือการเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกนั้น เห็นว่า จากผลการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้วในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว พบว่าภาษีมรดกที่เก็บได้จะมีจำนวนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อเพิ่มการจัดเก็บรายได้ของรัฐก็อาจจะทำได้ไม่มากนัก แต่มองว่าการจัดเก็บภาษีมรดกน่าจะมุ่งไปเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากกว่า ซึ่งหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อวัตถุประสงค์นี้ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วจะสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากน้อยเพียงใดคงต้องขึ้นอยู่กับอัตราการจัดเก็บ และประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีด้วย

ด้านนายแอ็กเซล ฟาน ทรอตเซนบวร์ก รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะเติบโตได้ 6.9% ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งลดลงจากปี 56 ที่เติบโตได้ 7.2% โดยประเทศจีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 7.4% ในปีนี้ และเหลือ 7.2% ในปีหน้า เนื่องจากรัฐบาลพยายามผลักดันเศรษฐกิจไปในางที่ยั่งยืนด้วยนโยบายแก้ปัญหาเรื่องความเสี่ยงและข้อจำกัดทางโครงสร้างทางการเงิน

"เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงมีศักยภาพที่จะเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น และเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ หากผู้กำหนดนโยบายสามารถทำให้วาระการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศสำเร็จได้ ซึ่งรวมถึงการลดอุปสรรคในการลงทุนภายในประเทศ การพัฒนาความสามารถในด้านการส่งอก และการใช้หลักเหตุผลในการใช้จ่ายของภาครัฐ" รองประธานธนาคารโลก ประจำภูมิภาคฯ ระบุ

สำหรับเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้มีแรงสนับสนุนจากการบริโภคของภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่น การใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งในอินโดนีเซีย, ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งในมาเลเซีย และการส่งเงินรายได้กลับประเทศของฟิลิปปินส์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการเติบโตของภูมิภาค กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงโดยเฉพาะญี่ปุ่นและยุโรปอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระยะอันใกล้ สภาวะทางการเงินของโลกอาจรัดกุมมากขึ้น และความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศและภูมิภาคอาจมีผลกระทบต่อนักลงทุน ซึ่งภูมิภาคยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน แม้ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะโลหะ เช่น ผู้ส่งออกโลหะในประเทศมองโกเลีย และผู้ส่งออกถ่านหินในอินโดนีเซีย เป็นต้น

โดยวิธีที่ดีที่สุดในากรจัดการความเสี่ยงสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ คือ การแก้ปัญหาความไม่มั่นคงและความไม่มีประสิทธิภาที่มีสาเหตุมาจากการขยายระยะเวลาการผ่อนปรนของนโยบายทางการเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้มาตรการทางการคลัง และเพิ่มการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ