กกร.หวังมาตรการกระตุ้นศก.ช่วยหนุน GDP ทั้งปีโต 2% หลังส่งออกส่อติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 7, 2014 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) คาดว่า ช่วงปลายปีการท่องเที่ยวนั้นเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายในประเทศนั้นจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากรัฐบาลเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 4.4 หมื่นล้านบาท และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งอีกราว 6-7 หมื่นล้านบาท
"เวลาเหลืออีกไม่มาก รัฐบาลก็เพิ่งเข้ามา ต้องรอดูอีก 1-2 เดือน ถ้าเม็ดเงินลงสู่ระบบแล้วเชื่อว่า ชาวนาได้เงินไป 100 บาทก็จะใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งจะหมุนเวียนเศรษฐกิจได้อีก 3-4 เท่าตัว" นายอิสระ กล่าว

ทั้งนี้ กกร.ประเมินเศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีอัตราการเติบโต(GDP) ไม่เกิน 2% หลังภาวะการส่งออกยังอยู่ในภาวะถดถอยไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจนอาจถึงขั้นติดลบ 1% โดยหวังปัจจัยที่มากระตุ้นเศรษฐกิจจากการค้าชายแดน การใช้จ่ายในประเทศ และการท่องเที่ยว แต่ไม่กังวลเนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงของการปฏิรูปเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

"ถ้าทุกอย่างดีขึ้นจะทำให้จีดีพีโต 2%...แต่ไม่กังวลกับตัวเลขจีดีพี เพราะเป็นช่วงการปฏิรูปเพื่อปรับโครงสร้าง เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ต่ำ" นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน กกร. กล่าว

นายอิสระ กล่าวว่า แนวโน้มการค้าชายแดนยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากตามการเจริญเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด โดยปัจจุบันการค้าชายแดนมีมูลค่าราว 9 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้แต่ละภาคส่วนไปดำเนินการจัดทำแนวทางที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และแนวทางการพัฒนาการขนส่งระบบราง เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ครั้งหน้า

นายอิสระ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ยังได้หารือกันถึงการปรับปรุง แก้ไข และการออกกฎหมายทางเศรษฐกิจ 28 ฉบับ ซึ่งมี 4 ฉบับที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ พ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ, พ.ร.บ.ศุลกากร ในประเด็นเรื่องสินบนนำจับ, ประมวลรัษฎากรในประเด็นเรื่องการเคลียริ่งตั๋วเงิน และภาษีเงินได้เพื่อส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยฝ่ายกฎหมายกำลังเร่งดำเนินการเพื่อเสนอให้รับบาลผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป

ขณะที่นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้แม้จะปรับตัวอ่อนค่าลง แต่หากเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคแล้วยังถือว่าอ่อนค่าน้อยกว่า ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขัน และคาดว่าในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าค่าเงินจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากสหรัฐสิ้นสุดมาตรการ QE และมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ขณะที่มาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนรุนแรงของธนาคารแห่งประเทศไทยมีความเหมาะสมแล้ว

"ค่าเงินคงผันผวนมากจนกว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย" นายบุญทักษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ