ผู้ว่าฯธปท.แจงสื่อตปท.ย้ำศก.ไทยโตตามศักยภาพ หลังการเมืองเดินตามโรดแมพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 13, 2014 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้พบกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ภายหลังการประชุมสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) และธนาคารโลก(World Bank) ประจำปี 2557 ที่สหรัฐอเมริกา โดยได้มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ซึ่งนายประสาร ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคภายหลังสถานการณ์การเมืองคลี่คลายลงทำให้การบริโภคกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติ(normal trend) ขณะที่ความต้องการใช้จ่ายที่ชะลอไว้ในช่วงก่อนหน้านี้น่าจะกลับมาเป็นปกติด้วย

ส่วนภาคเอกชนจะได้อานิสงค์จากการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพในปี 2558 นอกจากนี้รัฐบาลเร่งดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รวมทั้งดูแลภาคเกษตรโดยไม่ใช้นโยบายการอุดหนุนราคา ทั้งหมดนี้จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ดีขึ้น

"ภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงปีหน้า ยังไม่เป็นห่วงเรื่องความมั่นใจทางธุรกิจ เพราะการปฏิรูปการเมืองเดินตามโรดแมพ 3 ช่วงตามที่ประกาศไว้" นายจิรเทพ กล่าว

พร้อมระบุว่า ผู้ว่าฯ ธปท.ยังชี้แจงถึงความกังวลของต่างชาติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงจากตางประเทศ (Foreign Direct Investment)ว่า หากมองจากตัวเลขโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI นั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นโครงการที่สำคัญ เช่น Eco car, การแปรรูปอาหาร และที่เกี่ยวกับ renewable energy โดยเป็นนักลงทุนจากหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะจากญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากนี้ภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศสุทธิรวมตั้งแต่ต้นปีเป็นบวก

สำหรับการดูแลเศรษฐกิจปี 2558 นั้น นโยบายการเงินขณะนี้มีความเพียงพอในการช่วยดูแลเศรษฐกิจ และไม่มีแรงกดดันเงินเฟ้อถึงแม้จะมีการปรับราคาพลังงานบ้าง โดยในระยะต่อไป ธปท.จะติดตามทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) อย่างใกล้ชิด แต่ก็เป็นข้อมูลที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว ซึ่งหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นก็ไม่น่ามีปัญหาเพราะการค้าระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนเศรษฐกิจจีนที่อาจจะชะลอลงบ้างจะถูกชดเชยด้วยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนในตลาดการส่งออกของไทยใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับเสถียรภาพเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจผันผวนในปี 2558 จากอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันในประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมทั้งความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศนั้น ไทยมีเงินสำรองทางการเพียงพอและมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นที่ช่วยเป็นด่านแรกในการดูแลความผันผวนนี้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ