เกษตรกรไม่เห็นด้วยแนวทางแจกเงิน วอนภาครัฐช่วยลดต้นทุน-เปลี่ยนพันธุ์ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 17, 2014 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบัติ เล็บครุฑ เกษตรกรตัวอย่างในพื้นที่ จ.นครปฐม ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจ่ายเงิน 1,000 บาท/ไร่ให้ชาวนาที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่ เนื่องจากมองว่าการเอาเงินมาแจกไม่ทำให้ชีวิตชาวนามีกินมีใช้อย่างยั่งยืน ขณะที่แนวทางที่คิดว่าดีกว่าคือการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวให้ชาวนา สนับสนุนพันธุ์ที่เหมาะสมกับที่นา

สำหรับตนเองอยู่ที่จ.นครปฐม มีที่ดิน 17 ไร่ แต่ยังไม่ได้รับข่าวสารเรื่องรัฐบาลจะจ่ายเงิน 15,000 บาท/ครอบครัว ให้เกษตรที่มีที่ดินทำกิน 15 ไร่ขึ้นไป หรือ จ่าย 1,000 บาท/ไร่ ให้เกษตรกรที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ โดยจะเริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกรตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.นี้

"เรื่องนี้ผมยังไม่ทราบเรื่อง ยังไม่มีใครมาให้ข้อมูล แต่ตัวเองเป็นชาวนาที่ขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ผมไม่ชอบที่เอาเงินมาแจกจ่ายแบบนี้ เป็นการให้เปล่าๆ ไม่ตรงจุด ไม่ยั่งยืน เงินช่วย 1,000 บาทใช้ไม่กี่วันก็หมด ถ้าจะช่วยจริงๆ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาเปลี่ยนพันธุ์ข้าว ช่วยให้ชาวนาอยู่ได้ด้วยตัวเอง"นายสมบัติ กล่าว

ปัจจุบันชาวนาในจ.นครปฐมส่วนใหญ่ปลูกข้าวขาวธรรมดา ปลูกกันมาไม่รู้กี่สิบปี ส่วนใหญ่จะขาดทุน แต่ถ้าเอาพันธ์ข้าวหอมมะลิมาปลูกที่มีอร่อยด้วยผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพอย่างมากแถมราคาก็ดีตันละหมื่นกว่าบาท แต่ทำไมไม่ปลูกกัน ขณะที่ข้าวธรรมดา รู้ว่าขาดทุนก็ยังจะปลูกแบบเดิมๆ

"ผมมีที่ดิน 17 ไร่ ปลูกผสมผสานทั้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ประมาณ 10 ไร่ ปลูกข้าวหอมนครชัยศรี 2 ไร่ มีฝรั่ง 1 ไร่ หน่อไม้ไผ่หวานอีกเล็กน้อย ส่วนช่วงนี้งดทำนาปรังก็จะปลูกหญ้าเนเปียร์ ลงทุนปลูกไร่ละประมาณ 45,000 บาท และปลูกเที่ยวนึงอยู่ได้นานถึง 15 ปี มีตลาดรองรับทั้งเอาไปทำอาหารสัตว์ ทำพลังงานทดแทน"นายสมบัติ กล่าว

พร้อมทั้งอยากให้ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบลด้านความรู้ ฝึกอบรมให้ชาวนารู้จักที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองในการของการลดต้นทุน และชาวนาเองก็ต้องให้ความสนใจ เพราะมองว่าเป็นประโยชน์ที่ชาวนาสามารถจับต้องเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่าการรอคอยเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ


แท็ก เกษตรกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ