กกร.เตรียมเสนอแนวทางแก้ไขปม GSP ต่อรัฐบาลภายใน ม.ค.นี้หลังกระทบส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 6, 2015 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร(กกร.) ว่า กกร.ได้ตั้งคณะทำงานเข้าศึกษาและตรวจสอบตัวเลขระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(GSP) ที่ส่งผลกระทบต่อหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยจะมีการเชิญกรมการค้าที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมหารือ หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐบาลภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อหาแนวทางช่วยเยี่ยวยาเป็นการชั่วคราวจนกว่าการจัดทำเขตการค้าเสรี(FTA) จะแล้วเสร็จ
"ในระหว่าง 3 ปีนี้ที่ FTA จะจบลงได้ ยืนยันว่า GSP มีผลกระทบแน่นอนในระบบอุตสาหกรรม และส่งผลมายังยอดการส่งออกที่น้อยลง เพราะภาษีต่างกัน การแข่งขันต่างกัน เมื่อเทียบกับประเทศที่จะมีสิทธิพิเศษทางภาษีอยู่ อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จากที่ปัจจุบันเศรษฐกิจยุโรป มีการซบเซาลงอย่างมาก ปัญหาค่าเงิน และต้นทุนค่าแรงของไทยที่สูงขึ้น โดยกกร.จะเร่งศึกษาประเด็นนี้ และเรียกกรมการค้ามาคุยกัน หลังจากนั้นจะเสนอต่อรัฐบาลให้หาแนวหาต่อไป" นายพจน์ กล่าว

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ยังมีความกังวลต่อราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร ส่งผลทำให้การฟื้นตัวทำได้ค่อนข้างช้า โดยเสนอแนะรัฐบาลให้ออกมาตรการอุ้มราคาสินค้าเกษตรในระยะสั้น เช่น จัดหาแหล่งเงินทุนเข้าช่วยเหลือ โดยต้องมีความโปร่งใส ส่วนระยะยาวต้องแก้ปัญหาที่ตัวเกษตรกรเองในด้านการเพาะปลูก และต้องดูความต้องการของสินค้าเกษตรแต่ละชนิด จึงจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ รวมถึงยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่จะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตในประเทศอีกด้วย

"ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยการเติบโตอาจจะไม่สูงมากนัก คิดว่า 3.5-4% น่าจะเป็นเป้าหมายของปีนี้ที้จะทำได้ จากการส่งออกที่ไม่โตมาก ไม่น่าจะเกิน 3-4% ความหวัง คือ การเจาะกลุ่มตลาดใหม่ๆ หรือส่งออกไปยังตลาดอาเซียน หรือประเทศเพื่อนบ้าน" นายสุพันธุ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนประเทศที่จะเป็นตัวหลักน่าจะมาจากภาคการท่องเที่ยว และหวังว่าค่าไฟฟ้าจะลดลงไปด้วย ทาง กกร.ก็จะมีแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้ภาคเอกชนมีการขับเคลื่อนไปไปได้ ซึ่งก็คงต้องมาดูต่อไปว่าจะช่วย SME อย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ