เงินบาทปิด 32.90/91 อ่อนค่าช่วงท้ายตลาด คาดต้นสัปดาห์หน้า 32.90-33.05

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 9, 2015 17:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.90/91 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 32.84/86 บาท/ดอลลาร์ หลังดอลลาร์แข็งค่าเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ
"หลังเปิดตลาดช่วงเช้าค่อนข้างนิ่ง เริ่มผันผวนช่วงท้ายตลาดหลังดอลลาร์แข็งค่า" นักบริหารเงิน กล่าว

นักลงทุนรอดูรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ช่วงค่ำวันนี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ธ.ค.57 ซึ่งคาดว่ามีแนวโน้มออกมาดี

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าจะอยู่ในกรอบ 32.90-33.05 บาท/ดอลลาร์

"แนวโน้มน่าจะอ่อนค่ามีโอกาสไปแตะ 33.00 บาท/ดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 119.29 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 119.56/59 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1817 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1800/1802 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,529.42 จุด เพิ่มขึ้น 7.80 จุด, +0.51% มูลค่าการซื้อขาย 49,517.13 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 915.85 ล้านบาท(SET+MAI)
  • สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เผยสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2557 มีจำนวน 5,626,390.17 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.12 ของ GDP ลดลงสุทธิ 14,214.40 ล้านบาทจากเดือนก่อนหน้านี้
  • นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท. เผยการที่มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาลดลงเป็นผลจากการตีราคาจากอัตราแลกเปลี่ยน(revaluation) เป็นสำคัญ เนื่องจากมูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศทั้งของไทยและประเทศอื่นๆ จะประกาศในรูปของดอลลาร์สหรัฐเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบ ดังนั้นเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ทำให้มูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศที่กระจายลงทุนอยู่ในเงินสกุลต่างๆ ในรูปของดอลลาร์ สหรัฐปรับลดลงตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย
  • แหล่งข่าวภายในระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 2557 จะหดตัวราว 0.5% ในแง่มูลค่าที่แท้จริง ซึ่งย่ำแย่กว่าอย่างมากเมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก.ค.ว่าจะขยายตัว 1.2% หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นย่ำแย่ลงตามคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่มีการปรับตามเงินเฟ้อ ก็จะหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีในปีงบประมาณ 2557 ซึ่งจะสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน ในปี 2557 ดัชนี CPI ขยายตัว 2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาของรัฐบาลที่กำหนดไว้ที่ 3.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต(PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระดับค้าส่งร่วงลง 3.3% เมื่อเทียบรายปีในเดือน ธ.ค.
  • กระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี เผยยอดการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย.ปรับตัวลดลง 0.1% จากสถิติเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบสามเดือน เนื่องจากยอดผลิตภาคพลังงานหดตัวลง และยังปรับตัวลดลง 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีร่วงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในวันนี้ โดยความต้องการพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เดินหน้าซื้อพันธบัตร โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 337 ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวปิดที่ 0.275% ลดลง 0.005% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน มี.ค.เพิ่มขึ้น 0.08 จุด แตะระดับ 148.20 ที่ตลาดหุ้นโอซาก้า
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของฝรั่งเศส(Insee) เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของฝรั่งเศสหดตัวลง 0.3% ในเดือน พ.ย.เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะขยายตัว 0.2% เนื่องจากการหดตัวลงของผลผลิตภาคการผลิตที่หดตัวมากถึง 0.6% ในเดือนดังกล่าว
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี(Destatis) เผยการส่งออกในเดือน พ.ย.57 ลดลง 2.1% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ต.ค. ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1.77 หมื่นล้านยูโร(2.09 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ราว 2.0 หมื่นล้านยูโร หลังจากเกินดุล 2.06 หมื่นล้านยูโรในเดือนก่อนหน้า
  • สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เผยราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงเพิ่มขึ้น 50 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,220 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ หรือราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,213.1 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ เพิ่มขึ้น 5.42 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.75 ดอลลาร์ฮ่องกง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ