สนพ.คาดเปิดประมูลซื้อไฟฟ้าแบบ FiT จากกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในเดือนมี.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2015 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) คาดว่ารัฐบาลจะสามารถเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าในอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT จากกลุ่มพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ทั้งกลุ่มพลังงานขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ ในช่วงเดือน มี.ค.หลังจากที่การร่างระเบียบหลักเกณฑ์การประมูลน่าจะแล้วเสร็จในปลายเดือน ม.ค.ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องที่มีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานต่อไป
"FiT ออกแบบเป็นอัตรากลางๆ วิธี biding คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จะเป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการตั้ง bid คาดการณ์ว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้ไม่เกินเดือนมีนาคมนี้...เชื้อเพลิงประเภทไหนพร้อมก่อนก็ bid ก่อน"นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต เชื่อว่าการประมูลรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ Feed in Tariff Biding (FiT- biding) จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานกลุ่มดังกล่าวนี้ได้ ส่วนจะสามารถเปิดประมูลในกลุ่มเชื้อเพลิงประเภทใดก่อนนั้น ยังต้องรอให้กกพ.เป็นผู้พิจารณาก่อน

การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กลุ่มที่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ซึ่งประกอบด้วย พลังงานขยะ ,ชีวมวล และก๊าซชีวภาพนั้น จะกำหนด FiT คงที่สะท้อนเงินลงทุนโครงการ และมีอัตรา FiT ส่วนผันแปร ปรับต้นทุนตามราคาเชื้อเพลิงทุกปี

ขณะที่ตามแผนพลังงานจะรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล จำนวน 4.8 พันเมกะวัตต์ ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบและมีสัญญาบางส่วนแล้ว ทำให้คงเหลือการรับซื้อเพิ่มราว 2 พันเมกะวัตต์ ,เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ มีแผนจะรับซื้อ 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วราวครึ่งหนึ่ง ทำให้เหลือการรับซื้อเพิ่มประมาณ 300 เมกะวัตต์ ส่วนเชื้อเพลิงจากพลังงานขยะ มีแผนจะรับซื้อ 400 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วราวครึ่งหนึ่ง คงเหลือการรับซื้อเพิ่มราว 200 เมกะวัตต์ ซึ่งในส่วนนี้จะรวมการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ที่คาดว่าจะอยู่ราว 50 เมกะวัตต์ด้วย

นายชวลิต กล่าวว่า คาดว่าอัตรา FiT สำหรับเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมจะอยู่ในช่วง 5-6 บาท/หน่วย แต่จะต้องจ่ายพรีเมียมเพิ่มขึ้นสำหรับการซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทนี้อีกราว 1 บาท/หน่วย เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนและให้ผู้ประกอบการสามารถคืนทุนได้ภายใน 8 ปี โดยเรื่องดังกล่าวต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ