(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติงบ 6 พันลบ.รับซื้อยางแผ่นรมควัน-น้ำยางสด แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2015 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้อนุมัติให้องค์การสวนยาง(อ.ส.ย.) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) วงเงิน 6 พันล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในการซื้อยางเพิ่มเติม โดยแยกเป็นการรับซื้อยางแผ่นรมควันจำนวน 4 พันล้านบาท และน้ำยางสดอีก 2 พันล้านบาท ซึ่งวันพรุ่งนี้(19 ก.พ.)ตนเองจะนำเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เพื่อพิจารณาในรายละเอียดต่อไป

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ 26,742 ราย และองค์กรเกษตรกร 1,028 แห่ง โดยค้างชำระหนี้สินที่อยู่ภายใต้กองทุนในการกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ 9 กองทุน เป็นมูลหนี้รวม 4,556 ล้านบาทนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ ไปหารือในรายละเอียดกับกรมบัญชีกลางแล้วนำมารายงานต่อ ครม.ในสัปดาห์หน้า

ด้านนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ให้ความเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาของโครงการรักษาเสถียรภาพยางพารา เพื่อให้สอดคล้องกับการได้รับเงินจากขายยางพาราและปิดโครงการ, อนุมัติเพิ่มวงเงินมูลภัณฑ์กันชนตามมติเดิมที่กระทรวงที่ขอไว้ 6,000 ล้านบาท นับจากนี้ไปจนถึงช่วงฤดูกาลปิดกรีดยาง จะมีจำนวนที่สามารถซื้อขายตามโครงการมูลภัณฑ์กันชนประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อให้การปิดกรีดฤดูกาล 57/58 จบลงด้วยความเรียบร้อย

และ อนุมัติวงเงิน 2,000 ล้านบาท ตามความต้องการของเกษตรกรที่เรียกร้องให้ซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย โดยใช้โครงการมูลภัณฑ์กันชนเข้าไปซื้อยาง 2 ชนิด เพื่อพยุงราคาให้สูงขึ้น ส่วนหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขให้คณะกรรมการนโยบายยางเป็นผู้กำหนด จากนั้นนำเสนอให้ ครม.ทราบต่อไป

ส่วนข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ไม่อยากให้รัฐบาลนำเงิน 6,000 ล้านบาทไปรับซื้อยางพาราในตลาดกลาง เกรงว่าจะตกไปเป็นของนายทุนแทนที่จะถึงมือของเกษตรกรโดยตรงนั้น กระทรวงฯได้ตั้งคณะกรรมการสอบตลาดกลางแล้ว โดยมีทหารและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยลงไปตรวจสอบ ยืนยันว่าจะไม่ตกไปอยู่ที่นายทุนแน่นอน เพราะรับซื้อยางมาได้ 1.1 แสนตัน และจะซื้ออีกประมาณ 1.3-1.4 แสนตัน ซึ่งยางจำนวนนี้ยังน้อยกว่าจำนวนยางที่ขายออกไปแล้ว

นายอำนวย กล่าวว่า เมื่อซื้อมาก็จะส่งมอบไป เงินก็ไม่หยุดชะงัก มีคำถามว่าที่ผ่านมาทำไมไม่ขายออกไป เป็นเพราะมติ ครม.ระบุว่าการจะขายยางขอให้สำรวจให้รอบคอบ อย่าให้กระทบกระเทือนถึงยางภายในประเทศ หากเราซื้อแล้วขายทันทีจะทำให้ยางล้นในตลาด และจะเผชิญกับปัญหาราคายางเช่นเดิม ดังนั้นเมื่อปิดกรีดยางก็จะไม่มียางแล้ว ซึ่งจะปิดกรีดได้ประมาณวันที่ 28 ก.พ.นี้ จากนั้นอีก 2 เดือน จะไม่มีการกรีดยางแล้ว ซึ่งจะมาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีอะไรต้องแก้ไขปรับปรุงหรือไม่

ส่วนกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ เรียกร้องให้ลาออก เนื่องจากแก้ปัญหาราคายางไม่ได้ นายอำนวย กล่าวว่า ตนทำงานตามหน้าที่ มีหน้าที่อะไรก็ทำตามนั้น และจะทำหน้าที่ของตนไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ