"หม่อมอุ๋ย" ตั้งเป้าพัฒนาระบบ 4G ทั่วปท. มั่นใจเปิดประมูลได้ในก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2015 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนาขับเคลื่อนเอสเอ็มอีด้วยเศรษฐกิจดิจิตอลว่า เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้ ประการแรกที่ต้องให้ความสำคัญ คือ "เงินทุน" เพราะต้นทุนในการเข้าถึงเว็บไซต์ หรือการจัดทำระบบออนไลน์ค่อนข้างสูงสำหรับ SMEs หากสามารถลดต้นทุนในการใช้ระบบดิจิตอลได้ ประชาชนหรือผู้ประกอบการก็จะสามารถเข้าถึงระบบดิจิตอลได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คือ 1. เนชั่นแนล บรอดแบนด์ โดยการพัฒนาระบบ 4G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าใน 1 ปี ทุกหมู่บ้านต้องสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ และอีก 1 ปีถัดไป ทุกบ้านต้องสามารถใช้ระบบออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง
"รัฐบาลจะเร่งผลักดันการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จีอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล โดยการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จี จะเป็นเรื่องแรกที่คณะกรรมการเตรียมการเศรษฐกิจดิจิตอล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะหารือในที่ประชุม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลก่อนที่ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้การขับเคลื่อนการประมูล 4 จี และวางระบบอินเตอร์เน็ตเดินหน้าไปได้ มั่นใจว่าจะเปิดประมูลได้ภายในกันยายนนี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

โดยคณะกรรมการเตรียมการฯ ชุดนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมีการประกาศจะเรียกประชุมทันที คาดว่าจะสามารถเรียกประชุมได้ภายใน 2 สัปดาห์หรือประมาณเดือนมี.ค.

รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลจำนวน 10 ฉบับ มีการแบ่งคณะทำงานออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(บอร์ดดีอี) และคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ไอซีที) เพื่อเปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล คาดว่าการตั้งคณะกรรมการฯทั้ง 2 ชุดจะตั้งเสร็จภายใน 2-3 เดือน โดยคณะกรรมการฯจะต้องขับเคลื่อนจัดตั้งนิติบุคคลร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อพิจารณาวางโครงการระบบเนชั่นแนลบอร์ดแบรนด์ การวางสายไฟเบอร์ออฟติกให้ครอบคลุมทั่วประเทศทุกหมู่บ้านภายใน 1 ปี ครึ่ง

2. จัดตั้งศูนย์ "ดาต้า เซ็นเตอร์" ผ่านการก่อตั้งหน่วยงานวิเคราะห์ตลาดในทุกกระทรวง เช่น ตลาดสำหรับเด็ก ตลาดสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ในทุกกระทรวงและสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการแต่ละตลาดมากที่สุด

และ 3. อินเตอร์เนชั่นนัล เกตเวย์ เป็นช่องทางเพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือ การให้คำแนะนำวิธีการใช้ การเข้าถึงเว็บไซต์ รวมทั้งการจัดตั้งเป็นอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีกว่า 2.7 ล้านราย สามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ได้วางแผนในการกำหนดกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินธุรกรรมข้ามแดนเป็นไปได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลทุกอย่างที่ส่งผ่านระหว่างกันเป็นไปได้ถูกต้องและเชื่อถือได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และการเกษตร ซึ่งช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอีกด้วย

ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตของสังคมโลก อาทิ สถานการณ์การเงิน เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 2 มิติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมและปฏิสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงฐานของการแข่งขันและแบบจำลองธุรกิจ เกิดเป็นรูปแบบใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน และเปลี่ยนกระบวนการทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจทางกายภาพ ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล จึงเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับภาครัฐเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ขณะที่นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯ ได้มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อเอสเอ็มอี ภายใต้แนวคิดดิจิตอลเอสเอ็มอีผ่านกิจกรรม 5 ด้านหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิตอล อาทิ กลุ่มผู้เขียนแอพพลิเคชั่น และเกมส์ต่างๆ บนสมาร์ทโฟน หรือกลุ่มผู้ทำแอนิเมชั่นหรือกราฟฟิกดีไซน์ 2. เอสเอ็มอี อาทิ ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม ที่ใช้ในการบริหารด้านต่างๆ การจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือการสต็อกสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ 3. การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโอทอป ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโอทอปที่มีศักยภาพสามารถทำการการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์

4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล อาทิ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การอบรมสัมมนาในหลักสูตรการตลาดแห่งอนาคต และหลักสูตรเปิดร้านค้าออนไลน์แบบเข้าใจมีชัยแน่นอน และ 5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ เป็นการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรองรับการขยายตัวของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบกว่า 2,500 ราย

สำหรับปี 2558 กรมฯ ได้วางแนวทางในการเน้นองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การฝึกอบรมการใช้เฟซบุ๊ก เพื่อเพิ่มศักยภาพการตลาดเชิงลึก ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านซัพพลายเชนด้านไอทีแบบเจาะลึกตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งซื้อวัตถุดิบ การวางแผนการผลิต กระบวนการผลิตสินค้า การบรรจุหีบห่อ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้นำระบบเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนในการทำการตลาด ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และช่วยจัดระบบให้กับงานเอกสาร เพื่อประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ทั่วโลก อีกทั้งจะเป็นปัจจัยเอื้อที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายและแพร่หลายขึ้นอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่ดีขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ