(เพิ่มเติม) ADB คาด GDP ไทยปี 58 โต 3.6% ลงทุนภาครัฐหนุน, ปี 59 เชื่อโตได้ 4.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 24, 2015 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 3.6% โดยได้รับอานิสงส์จากบรรยากาศทางการเมืองที่คลี่คลายลง การลงทุนภาครัฐ การขยายตัวที่ดีขึ้นทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก และราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ปี 59 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 4.1% โดยมองว่าปีนี้การลงทุนภาครัฐจะกลับมาขยายตัวจากที่หดตัวในปีก่อน เพราะได้มีการอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปี มูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท

ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ 0.2% ส่วนปี 59 คาดว่าจะเร่งตัวไปที่ 2.0% เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาอาหารและสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยรัฐบาลจะได้ใช้จังหวะที่ราคาน้ำมันโลกต่ำในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการลดการอุดหนุนดีเซลและก๊าซหุงต้ม และลดอัตราภาษีสรรพสามิตของเบนซิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น

นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ADB เปิดเผยว่า ปัจจัยบวกที่มีผลในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ มาจากการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนด้วย และการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมที่จะมีผลกระตุ้นภาคการส่งออกให้ดีขึ้นกว่าปี 57 เล็กน้อย รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่การบริโภคจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย เพราะยังมีแรงกดดันจากรายได้ภาคเกษตรที่ยังต่ำจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง และหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะติดลบต่อเนื่องอีก 1-2 เดือน

ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ 7.5% บวก/ลบ ส่วนลงทุนภาคเอกชน อยู่ที่ 3.5% ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 3.5% โดยยังต้องรอดูมาตราการกระตุ้นการเบิกจ่ายหลังจากนี้ด้วย ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตขึ้น 2.5% บวกลบ โดยในปีนี้การลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวในส่วนของโครงการขนาดเล็ก ขณะที่โครงการขนาดใหญ่จะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนในปีหน้าตามแผนของรัฐบาล การประมูลโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย และรถไฟรางคู่ที่คาดว่าจะประมูลแล้วเสร็จในปีนี้

สำหรับการรลงทุนภาคเอกชนกำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเมื่อรัฐดำเนินโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเมื่อการบริโภคเติบโตขึ้น ราคาพลังงานที่ลดต่ำลงและการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มี.ค.58 จะมีส่วนช่วยเสริมการลงทุนภาคเอกชน ถึงแม้อัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำในบางอุตสาหกรรมที่อาจมีส่วนชะลอการลงทุนอยู่บ้าง

นางลัษมณ กล่าว่า นโยบายการคลังคาดว่าจะส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่างบประมาณปี 58 จะตั้งการขาดดุลไว้เพียง 2.5 แสนล้านบาท หรือ 1.9% ของ GDP แต่รัฐบาลก็จัดให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเงินกู้ของสถาบันการเงินของรัฐ และเม็ดเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งก็จะมาจากงบประมาณที่ผูกพันมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า โดยปีงบประมาณ 59 ได้กำหนดการขาดดุลไว้มากขึ้นเป็น 3.9 แสนล้านบาท เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นอีก

ด้านการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 15.9% ในเดือนม.ค.58 โดยการท่องเที่ยวคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปี 59 เมื่อมีการยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และมีการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้คาดว่าในปี 58 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลค่อนข้างมาก แต่จะเริ่มเกินดุลน้อยลงในปี 59

ทั้งนี้ คาดการณ์ตัวเลขส่งออกปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 1-2% ต่ำกว่าเดิมคาดไว้ที่ 3-4% โดยมองว่าการส่งออกจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากที่เดือน ม.ค.58 หดตัว 3.5% ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมดีขึ้น แต่การส่งออกสินค้าเกษตรยังคงอ่อนแอ การนำเข้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ในส่วนของมูลค่าอาจจะเพิ่มขึ้นน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าการนำเขาจะเร่งตัวขึ้นในปี 59 เมื่อมีการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน

นางลัษมณ กล่าววว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปีนี้ ได้แก่ การใช้จ่ายภาครัฐที่หากไม่เป็นตามคาดก็จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และสถานการณ์การเมือง แม้จะนิ่งมากขึ้นแต่ก็ต้องจับตาใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจเกิดขึ้นหากสหรัฐมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย และสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ