สศค.เผยไตรมาสแรกปีงบ 58 ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุลลดลงจากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2015 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยฐานะการคลังของภาคสาธารณะตามระบบ สศค.(รัฐบาล, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และรัฐวิสาหกิจ) ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57-ธ.ค.57) มีรายได้รวม 1,780,002 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 70,541 ล้านบาท หรือ 3.8%

เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีรายได้ลดลงจำนวน 117,810 ล้านบาท เพราะ บมจ.ปตท.(PTT) ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่รัฐบาลและกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 51,793 ล้านบาท โดยมีสาเหตุสำคัญจากการได้รับค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz ในงวดที่ 2 และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดเก็บรายได้เข้ากองทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับการเบิกจ่ายของภาคสาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 2,016,676 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 78,485 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.7 โดยรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลมีการเบิกจ่ายลดลงจำนวน 116,329 และ 13,722 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ อปท. มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าวส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 236,674 ล้านบาท(คิดเป็น 1.9% ของ GDP) โดยขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,944 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ(Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน และทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง(ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 179,512 ล้านบาท(คิดเป็น 1.4% ของ GDP)

"ฐานะการคลังภาคสาธารณะช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 มีรายได้ 1,780,002 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 70,541 ล้านบาท หรือ 3.8% และมีผลการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,016,676 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 78,485 ล้านบาท หรือ 3.7% ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะขาดดุล 236,674 ล้านบาท คิดเป็น 1.9% ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,944 ล้านบาท"

สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของภาคสาธารณะ (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและทิศทางของนโยบายการคลังอย่างแท้จริง(ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย รวมทั้งการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุล 179,512 ล้านบาท คิดเป็น 1.4% ของ GDP

ขณะที่ฐานะการคลังรัฐบาลมีรายได้รวม 704,021 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 51,793 ล้านบาท หรือ 7.9% ประกอบด้วย รายได้รัฐบาล 548,397 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21,910 ล้านบาท หรือ 4.2% โดยมีสาเหตุหลักจากการได้รับค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz งวดที่ 2 สำหรับรายได้ของกองทุนนอกงบประมาณมีจำนวน 155,624 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 29,883 ล้านบาท หรือ 23.8% เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายรับจากเงินจัดเก็บเข้ากองทุนเพิ่มขึ้น 17,459 ล้านบาท และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 5,976 ล้านบาท

ด้านรายจ่ายมีจำนวนทั้งสิ้น 913,671 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13,722 ล้านบาท หรือ 1.5% ประกอบด้วย รายจ่ายจากงบประมาณจำนวน 827,289 ล้านบาท(ไม่รวมการชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังและเงินเพิ่มทุน) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13,540 ล้านบาท หรือ 1.6%, รายจ่ายเงินกู้นอกงบประมาณที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) รายจ่ายจากเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน(DPL) 1,004 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายสำหรับโครงการปรับปรุงทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 290 ล้านบาท และการเบิกจ่ายในโครงการมาตรวิทยาแห่งชาติ ระยะที่ 3 สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จำนวน 156 ล้านบาท (2) รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำ 587 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของโครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 262 ล้านบาท (3) รายจ่าย ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (TKK) 974 ล้านบาท และ (4) รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ 345 ล้านบาท, รายจ่ายกองทุนนอกงบประมาณ 83,472 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,176 ล้านบาท หรือ 2.7% เป็นผลมาจากการที่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น 8,150 ล้านบาท ในขณะที่กองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายผลประโยชน์เพื่อสังคมลดลง 4,232 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 ขาดดุล 209,650 ล้านบาท(คิดเป็น 1.7% ของ GDP) ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน 65,515 ล้านบาท หรือ 23.8%

ส่วนฐานะการคลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อปท. จำนวน 7,853 แห่ง มีรายได้ 177,684 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38,112 ล้านบาท หรือ 17.7% เป็นผลจากการได้รับเงินอุดหนุนลดลง จำนวน 39,345 ล้านบาท ขณะที่รายได้ที่จัดเก็บเองและรายได้ที่ได้รับจากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บ และแบ่งให้เพิ่มขึ้น 826 และ 603 ล้านบาทตามลำดับ สำหรับด้านรายจ่าย คาดว่า อปท. มีรายจ่ายรวม 159,851 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 17,978 ล้านบาท หรือ 12.7% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 104,908 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 54,943 ล้านบาท ทั้งนี้ จากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว คาดว่าดุลการคลัง อปท. เกินดุล 17,833 ล้านบาท (คิดเป็น 0.1% ของ GDP) เกินดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 56,090 ล้านบาท

และฐานะการคลังรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(รัฐวิสาหกิจฯ) มีรายได้จำนวน 1,097,990 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 117,810 ล้านบาท หรือ 9.7% โดยมีสาเหตุหลักจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีรายได้ลดลงจำนวน 117,550 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง สำหรับรายจ่ายของรัฐวิสาหกิจฯ มีการเบิกจ่ายรวม 1,142,847 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 116,329 ล้านบาท หรือ 9.2% เป็นผลมาจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) มีรายจ่ายประจำลดลง 79,828 และ 22,503 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากรายได้และรายจ่ายดังกล่าว ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจขาดดุลทั้งสิ้น 44,857 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1,481 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.4%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ