(เพิ่มเติม2) สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 1/58 โต 3%,ลดคาดทั้งปีเหลือโต 3-4% แนะเร่งแก้ส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2015 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/58 ขยายตัว 3% ดีขึ้นจากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 4/57 ด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการ ด้านการผลิตปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาคมนาคมขนส่ง และสาขาอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/58 ขยายตัวจากไตรมาส 4/57ราว 0.3%

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 58 เหลือโต 3-4% จากเดิมคาด 3.5-4.5% เนื่องจากคาดว่าส่งออกน่าจะขยายได้ตัวได้เพียง 0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้มีโอกาสหดตัวถึงขยายตัวในช่วง -0.3 ถึง +0.7%

สาเหตุที่ปรับลดคาดการณ์ GDP เนื่องจากการส่งออกไม่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจภายนอก แต่การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่าช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจได้นอกเหนือจากนโยบายการคลัง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 2/58 เป็นต้นไป

สภาพัฒน์ ระบุว่าการขยายตัวของ GDP ในปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ในภาวะที่ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี (3) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี (4) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และ (5) ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง

แต่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินเยน และความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การส่งออก อุปสงค์ภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้ และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่สามารถกระจายตัวทั่วถึงทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะเกษตรกร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรและการส่งออก

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 0.2% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.3% และ 6.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง (-0.3) -0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.9% ของ GDP

ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการ สศช. ยืนยันว่า ขณะนี้ไทยยังไม่เข้าสถานการณ์เงินฝืดแม้จะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีโอกาสติดลบ เนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศมีการปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้น มองว่าไม่เข้าข่ายที่ไทยจะเกิดภาวะเงินฝืด และสภาพัฒน์ก็ไม่มีความเป็นห่วงในจุดนี้

"การใช้จ่ายในประเทศตั้งแต่ไตรมาส 1 ก็เพิ่มขึ้นทุกตัว ทั้งการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐและเอกชน ดังนั้นมองว่าไทยยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืดตามที่หลายคนเป็นห่วง เราไม่มีความกังวลเรื่องสถานการณ์เงินฝืด" นายปรเมธี กล่าว

สภาพัฒน์ ระบุอีกว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในแดนลบในช่วงครึ่งปีแรกและมีแนวโน้มที่จะติดลบต่อเนื่องใน ไตรมาส 3/58 ซึ่งทำให้ยังต้องติดตามเพื่อประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเงินเฟูอและการคาดการณ์เงินเฟูอของประชาชน รวมทั้งการตอบสนองของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาอย่างใกล้ชิด

ส่วนเศรษฐกิจโลกปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำอย่างต่อเนื่องในขณะที่การขยายตัวของปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.4% ต่ำกว่าการคาดการณ์ 3.5% ในครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสแรกและยังไม่มีสัญญาณของการขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจน

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินนโยบายผ่อนคลาย แต่การฟื้นตัวยังเป็นไปอย่างช้าๆ และความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดยังอยู่ในเกณฑ์สูง การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและภาวะความตกต่าของราคาสินค้า ขั้นปฐมส่งผลให้การส่งออกของประเทศสำคัญๆ ชะลอตัวลงและลดลงซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดีย และประเทศสำคัญๆ ในกลุ่ม NIEs และ ASEAN มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้

แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุนรวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชียท่ามกลางการปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ประเทศมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ คาดว่าจะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปเป็นครึ่งปีหลังเพื่อรอความชัดเจนในการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย (Core PCE Price Indice) และการปรับตัวดีขึ้นของคาดการณ์ที่จะสร้างความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน

ความแตกต่างของแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ราคาน้ำมันและสินค้าขั้นปฐมยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจากแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. การเพิ่มขึ้นของผลผลิตในแหล่งผลิตสำคัญๆ และอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง

สภาพัฒน์ นำเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 58 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก โดยในระยะยาวจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า ผลิตภาพการผลิต และเพิ่มสัดส่วนอุตสาหกรรมและบริการในยุคที่สาม ส่วนในระยะสั้นควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วกว่าประเทศคู่แข่ง การแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ การลดปัญหาอุปสรรคความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะในแนวด่านชายแดนต่างๆ และการเร่งรัดแก้ปัญหาการค้าแรงงานข้ามชาติและปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

(2) การแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์และเงื่อนไขทางด้านราคาเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขด้านราคาในตลาดโลกควบคู่ไปกับการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของการผลิตภาคเกษตรโดยเฉพาะการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตร การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการสนับสนุนการส่งเสริมอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนในภาคเกษตร (3) การบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของการส่งออก และ (4) การเร่งรัด การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ