ส.อ.ท.เผยเอกชนพร้อมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ 5 ปีรวม 500 MW มูลค่า 7.5 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 18, 2015 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ปรานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะของภคเอกชนปัจจุบันมีความพร้อมในการลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งได้มีการตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะรวมตามแผน 5 ปี (58-62) อยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนในช่วงปี 58-59 จำนวน 300 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวม 4.5 หมื่นล้านบาท และในช่วงปี 60-62 อีก 200 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวม 3 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีปริมาณขยะอยู่ที่ 24 ล้านตัน/ปี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตจะมีขยะอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมาก โดยคาดการณ์ว่าอาจจะใกล้เคียงกับปริมาณขยะชุมชน ซึ่งปริมาณขยะทั้งขยะชุมชนและขยะอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้นจะสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะนั้นมีการลงทุนที่สูง โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 150 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และใช้เวลาที่ค่อนข้างยาวนาน ทั้งการก่อสร้างโรงงานคัดแยกขยะและโรงงานผลิตไฟฟ้า การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมกับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง และการได้รับอนุญาตจากภาครัฐในการลงทุนโครงการ โดยใช้เวลาทั้งสิ้นรวม 3.5-5 ปี ถึงจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้

นอกจากนี้ยังจะขอให้ภาครัฐสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอย่างต่อเนื่อง และอยากให้มีการสนับสนุนและช่วยในการปรับลดกฎระเบียบหรือเร่งรัดการขออนุญาตในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะให้มีความรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าภายในปี 59 จะมีการลงทุนโรงไฟฟ้าลังงานขยะไม่น้อยกว่า 15 โครงการ อีกทั้งยังจะช่วยให้สามารถกำจัดขยะในประเทศได้ปีละ 3 ล้านตัน พร้อมกำจัดบ่อฝั่งกลบได้อีกปีละ 1 ล้านตันด้วย

ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) ซึ่งจะมีแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)รวมถึงแผนอนุรักษ์พลังงาน(EEDP) ควบคู่กันไปด้วย โดยตลอดแผน AEDP ได้กำหนดสัดส่วน 20% ของการใช้พลังงานทั้งหมดหรือมีกำลังผลิตรวม 19,685 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ราว 500 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีการผลิตอยู่ราว 48 เมกะวัตต์ ซึ่งภาครัฐจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นอันดับแรก

โดยผู้ประกอบการสามารถมายื่นขอรับการส่งเสริมได้เลย ซึ่งคาดว่าจะเปิดรับซื้อได้หลังจากสามารถเคลียร์โครงการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าค้างท่อแล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่งล่าสุดในส่วนของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม)ค้างท่อที่เหลือเคลียร์ได้ทั้งหมดแล้วรวมกว่า 900 เมกะวัตต์ และจะทำให้สามารถรู้ถึงศักยภาพสายส่งของประเทศว่าจะมีเพียงพอรองรับโครงการซื้อไฟฟ้าใหม่ๆของภาครัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ