หลายสำนักวิจัยมองต่าง วัดใจ กนง.10 มิ.ย."คง หรือ ลด"ดอกเบี้ยนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 9, 2015 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันเศรษฐกิจยังมองต่างมุม กนง.รอบนี้มีโอกาสทั้งลด-คงอัตราดอกเบี้ย ฝ่ายหนุนลดดอกเบี้ยชี้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยหลายตัวยังไม่สู้ดี หากปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งน่าจะเป็นแรงส่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และคงเป็นการลดดอกเบี้ยรอบสุดท้ายในปีนี้ ขณะที่ฝ่ายคงดอกเบี้ยมอง กนง.น่าจะยังรอดูผลจากการลดดอกเบี้ยใน 2 ครั้งที่ผ่านมาก่อน โดยเห็นว่าไม่ช้าเกินไปหากจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะมองว่าการปรับลดดอกเบี้ยถี่เกินไปจะกระทบกับความมั่นใจของผู้ออมเงินได้

                    สถาบัน                        มติ กนง.        อัตราดอกเบี้ยใหม่
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                            คง               1.50%
          ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB                    คง               1.50%
          บลจ.วรรณ                                 คง               1.50%
          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย     ลด               1.25%
          บล.อาร์เอชบี โอเอสเค(ประเทศไทย)            ลด               1.25%
          ธ.กรุงศรีอยุธยา                             ลด               1.25%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ในการประชุมรอบที่ 4 ของปี 58 วันที่ 10 มิ.ย.นี้ เพื่อรอประเมินผลการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมาก่อน โดยเห็นว่าการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน และการอ่อนค่าลงของค่าเงินบาทหลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 รอบที่ผ่านมา น่าจะช่วยหนุนนำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้ แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดของ ธปท.ยังคงบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แต่อานิสงส์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง เพื่อรอแรงส่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังของภาครัฐไม่ว่าจะเป็นการเร่งผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการลงทุนของเอกชน รวมทั้งมาตรการในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนในต่างจังหวัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า กนง.น่าจะรอติดตามผลของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง สอดคล้องกับความเห็นของ รมว.คลัง ที่ส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยมองว่านโยบายการเงินในปัจจุบันผ่อนคลายเพียงพอจะดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยลงอีกอาจกระทบต่อผู้ออมเงิน

อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในปีนี้ อาจจะส่งผลให้ช่องว่างในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของไทยจำกัดมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ค.58 ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ช่องว่างในการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของไทยให้มีข้อจำกัดมากขึ้น เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกอาจยังถูกครอบงำจากการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด อันอาจจะสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงิน และลดทอนผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินของไทยในช่วงนั้น

"เชื่อว่า กนง.จะติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อรอดูการส่งสัญญาณถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1-3 เดือนนี้"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี(TMB Analytics) ประเมินว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 10 มิ.ย.นี้เช่นกัน เพื่อรอประเมินประสิทธิผลหลังปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุม 2 ครั้งล่าสุด แต่ทั้งนี้ยังไม่ปิดโอกาสที่อาจมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในครึ่งปีหลัง หากสถานการณ์เงินเฟ้อและการส่งออกยังไม่ดีขึ้น

สำหรับการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดมีส่วนช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างชัดเจน โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงราว 1 บาทมาอยู่ที่ราว 33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยพยุงภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้บ้าง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจด้านอื่นๆ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือน เม.ย.ชี้ให้เห็นถึงการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวแข็งแกร่งและการเบิกจ่ายงบภาครัฐเร่งตัวได้ดีขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายของเอกชนในประเทศและรายได้จากการส่งออกยังคงอ่อนแรง ด้านความเชื่อมั่นในภาคเอกชนที่หักหัวลงก็เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง

การที่ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อนเป็นการเพิ่มแรงหนุนแก่เศรษฐกิจอย่างทันท่วงที(Pre-emptive) หลังความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยมีสูงขึ้น หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ กนง.ได้กระตุ้นเศรษฐกิจรองรับความเสี่ยงเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีกมีไม่มากนัก

"ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าโอกาสที่ กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมที่จะถึงนี้ มีมากกว่าจะมีการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม หลังภาพเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่กระสุนทางการเงินเริ่มเหลือน้อย"บทวิเคราะห์ ระบุ

ทั้งนี้ มองว่ายังมีโอกาสที่ กนง.จะออกโรงกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีความเสี่ยงหลักๆ ที่ต้องติดตามอยู่ 2 ประเด็น ความเสี่ยงแรกคือ เงินเฟ้ออาจหลุดกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อยาวนานกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยประเมินไว้ ความเสี่ยงอีกประการคือ รายได้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกสินค้าอาจติดลบต่อเนื่อง จากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังอ่อนแอ

ขณะที่ นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ คาดว่า กนง.รอบนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% เพื่อรอดูผลจากการลดอัตราดอกเบี้ยใน 2 ครั้งก่อนหน้านี้ว่าจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วจะพบว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยล่าสุดมีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่มีการปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม กนง.ยังมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งในช่วงเวลาที่เหลือของปี หากภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวช้าต่อเนื่องโดยยังมีช่องว่างให้ กนง.ลดดอกเบี้ยได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ

อีกด่านหนึ่ง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณซึมตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทาง และยังมีผลต่อเงินบาททำให้ปรับตัวอ่อนค่าลง เอื้อประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทยที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศให้เพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ เห็นว่า กนง.ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมรอบนี้ เพราะหากจะไปลดลงในการประชุม เดือน ส.ค.อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจช้าเกินไป ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะมีผลต่อการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจราว 0.05-0.1%

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบที่ผ่านมา(เม.ย.58) จนถึงขณะนี้สถาบันการเงินภาคเอกชนยังไม่ค่อยตอบรับเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเห็นว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFI) จะต้องเป็นผู้นำในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้มากขึ้นกว่านี้

"การลดดอกเบี้ยของ กนง.ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา สถาบันการเงินของเอกชนไม่ตอบสนองมาก และไม่เร็วพอ เพราะเอกชนมองว่าดอกเบี้ยตอนนี้ต่ำเพียงพอแล้ว ซึ่งเป็นการมองเพื่อการรักษาประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นของธนาคาร แต่ธปท.ยังมี SFI ที่จะทำงานแทนได้...มองว่าตอนนี้ดอกเบี้ยยังมีพื้นที่ในการลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้" นายธนวรรธน์ กล่าว

เช่นเดียวกับ บล.อาร์เอชบี โอเอสเค (ประเทศไทย) ระบุว่า ทีมเศรษฐศาสตร์ของบริษัทคาดว่า กนง.จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 25bps เนื่องจาก 4 เหตุผลสำคัญ คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังแข็งค่าไป 2.ดัชนีภาคการผลิตที่ยังอ่อนแอต่อเนื่อง 3.ยังคงมีพื้นที่ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากสถานการณ์เงินฝืดในขณะนี้ และ 4.การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ

โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงราว 2.1% ในเดือน พ.ค.หากเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากลดลง 0.9% ในเดือนเม.ย.ตามนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ หากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีแล้วพบว่าค่าเงินอ่อนตัวลงราว 0.3% เท่านั้น และด้วยตัวชี้ทางเศรษฐกิจแสดงแนวโน้มที่ยังเปราะบาง รวมทั้งอัตราค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าหากเทียบกับภูมิภาคที่ราว 33.50-33.80 บาท/USD

ส่วนตัวเลขการส่งออกอุตสาหกรรมยังคงลดลงต่อเนื่องราว 5.3% ในเดือน เม.ย.58 จากเดิม -1.7% ในเดือน มี.ค.58 โดยอ่อนแอลงในทุกกลุ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีสัดส่วนส่งออกมาก อาทิ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ โทรทัศน์ และ hard disk ในขณะที่กลุ่มยานยนต์ยังชะลอตัว ส่วนการผลิตเหล็กลดลงฉุดให้อัตราการผลิตลดลงเป็น 54.0% ในเดือนเม.ย.ต่ำที่สุดในรอบกว่า 3 ปี อัตราการผลิตในประเทศยังคงลดลงจาก 67.5% เป็น 60.8% ส่วนอัตราการผลิตภาคการส่งออกลดลง 9ppts เป็น 40.4%

พร้อมกันนี้ มองว่า กนง.ยังมีพื้นที่ในการปรับลดดอกเบี้ยจากสถานการณ์เงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป(Headline inflation) ลดลง 1.3% ในเดือน พ.ค. และลดลงมากกว่าเดือน เม.ย.ที่ -1.0% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core inflation) ชะลอตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือนที่ราว +0.9% ในเดือน เม.ย.จากเดิม +1.0% ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ยังคงประเมินอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 58 ที่ 0.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ +1.0% และปีที่ผ่านมาที่ +1.9%

"คาดว่า ธปท.จะมีการปรับลดอัตราดดกเบี้ยลงราว 25bps ในเดือนมิถุนายน ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.นี้" บทวิเคราะห์ ระบุ

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการผู้บริหารกลุ่มวิเคราะห์ตลาดการเงิน ฝ่ายวางแผนโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) คาดว่า การประชุม กนง.รอบนี้ มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.25% เนื่องจากแรงส่งในการฟื้นเศรษฐกิจหลายปัจจัยยังดูไม่ค่อยดีนัก ทั้งตัวเลขส่งออก การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น มองโดยรวมแล้วน่าจะมีช่องว่างและโอกาสให้ กนง.ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีกในรอบนี้

"จริงๆ แล้วโอกาสก็มีทั้งปรับลดดอกเบี้ย และคงดอกเบี้ย แต่เรามองว่าโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยมีมากกว่า เพราะมองดูแล้วแรงส่งที่จะเป็นตัวช่วยฟื้นเศรษฐกิจก็ยังดูไม่ค่อยดี ทั้งตัวเลขส่งออก การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน"น.ส.รุ่ง กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

พร้อมระบุว่า หาก กนง.ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยลงในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ ก็จะเป็นการปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน และเชื่อว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับการลดดอกเบี้ยในปีนี้แล้ว และคงจะยังไม่เห็นแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เช่นกัน

น.ส.รุ่ง เชื่อว่าหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในรอบนี้ ตลาดการเงินจะตอบรับการปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าใน 2 ครั้งก่อน และอาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าไปสู่ระดับ 34 บาท/ดอลลาร์ได้ แต่อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยคงไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ