ม.รังสิตลด GDP ปีนี้เหลือโต 2.9-3.4% ครึ่งปีหลังมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 22, 2015 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังกระเตื้องขึ้นจากฐานต่ำปีที่แล้ว ขณะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งวิกฤตการณ์ผิดนัดชำระหนี้กรีซส่งผลต่อความผันผวนของระบบการเงินโลก การระบาดของโรคเมอร์ส และธงแดงจาก ICAO หวั่นกระทบภาคการท่องเที่ยวอันเป็นแหล่งรายได้หลักตอนนี้

ขณะที่ส่งออกมีแนวโน้มติดลบ ต้องจับตาผลกระทบฟองสบู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลต่อปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคาร รายได้ภาคเกษตรกรรมยังคงไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรบางประเภทกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ภาคเกษตรกรรมยังคงเจอภัยแล้งและขาดแคลนน้ำชลประทานในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้เกิด Supply shock ผลผลิตทางด้านเกษตร

ทั้งนี้ ได้ปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจเติบโตทั้งปีจาก 3-3.9% เหลือ 2.9-3.4% คาดครึ่งปีหลังขยายตัวได้ไม่เกิน 3.5-4% ไตรมาส 2 จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงสุด หลังจากนั้นการเติบโตจะชะลอตัวลง โดยที่เศรษฐกิจไตรมาส 4 อาจติดลบได้ อัตราการขยายตัวการส่งออกติดลบประมาณ 0.5-1%(จากการคาดการณ์เดิมขยายตัว 1-2%) อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น 0.5-1% (เดิมคาดว่าอยู่ที่ 0.2-0.5%) และค่าเงินบาทอาจอ่อนลงแตะระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ หากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วงปลายปี

ส่วนปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศให้ประเทศไทยสอบตกเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินเหมาลำของไทยและสายการบินต้นทุนต่ำ หากหน่วยงานของยุโรปลดอันดับการบินของไทยเพิ่มเติมอีกจะกระทบต่อ บมจ.การบินไทย ที่มีปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว

ทางด้านผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคเมอร์สยังไม่ชัดเจน แต่ไม่น่ามากเท่าผลกระทบจากโรคซาร์เมื่อ พ.ศ.2546 หากคุมไม่ได้ และเกิดระบาดในไทยจะกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน ธุรกิจท่าอากาศยาน เป็นต้น โดยในเบื้องต้นผลกระทบได้สะท้อนมาที่การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวแล้ว โดยราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจปรับตัวลงมาแล้วระหว่าง 3-7%

อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับต่ำโดยคาดว่าครึ่งปีหลังน่าจะอยู่ระดับ 60-65% สะท้อนกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่จำนวนมากจึงไม่น่าจะเห็นการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังชัดเจนนัก แต่การคาดการณ์อัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ระดับ 3.8% ใน พ.ศ.2558 ของทางการมีความเป็นไปได้จากการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกที่เติบโตมากถึง 37.8% ส่งผลบวก Crowding in Effect

การลงทุนภาคเอกชนและระบบเศรษฐกิจกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีเครื่องประดับ Hard Disk Drive มีความเสี่ยงสูง ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนชะลอตัวจากการเข้าไปจัดระเบียบราคาค่ารักษาพยาบาล มีภาวะ Oversupply ในธุรกิจกิจการอุดมศึกษาซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่วิกฤติฟองสบู่แตกหลังจากนี้ประมาณ 3-5 ปี กลุ่มปูนและวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ส่วนโครงการคอนโดมิเนียม(โครงการอสังหาริมทรัพย์แนวตั้ง) ในต่างจังหวัดเริ่มชะลอแต่ยังขยายตัวได้ดีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ