SCB EIC คาดส่งออกทั้งปีหดตัว 1.5% มีหลายปัจจัยกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 26, 2015 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดมูลค่าการส่งออกไทยทั้งปีจะหดตัวลง 1.5%YOY หลังจากมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยังคงหดตัวกว่า 4.2%YOY โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้การส่งออกจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากฐานราคาน้ำมันที่จะกลับมาอยู่ในระดับปกติในช่วงไตรมาส 4 ประกอบกับการส่งออกรถยนต์ที่คาดว่าจะขยายตัวดีได้ต่อเนื่องในปีนี้ และเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลงหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะช่วยพยุงการส่งออกของไทยในระยะถัดไป

อย่างไรก็ดี การส่งออกไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ เช่น ความเปราะบางของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ไปยังเวียดนาม การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจากสหภาพยุโรป และความผันผวนของค่าเงิน

"ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้การส่งออกไทยทั้งปีนี้หดตัวลงราว 1.5%YOY" เอกสารศูนย์วิจัยฯ ระบุ

วันนี้กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 18,428.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงอีก 5.0%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ซึ่งถือเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้มูลค่าการส่งออกไทยยังคงหดตัวกว่า 4.2%YOY ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวรุนแรงในเดือนพฤษภาคมที่ 20%YOY โดยมีมูลค่าอยู่ที่เพียง 16,012.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในเดือนพฤษภาคมไทยกลับมาเกินดุลการค้าสูงถึง 2,416.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในเดือนพฤษภาคม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงกว่า 4.5%YOY โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญของไทยอย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าหดตัวลงในเดือนพฤษภาคมที่ 5.1%YOY, 1.3%YOY และ 3.9%YOY ตามลำดับ โดยการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยที่หดตัวลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่จากไทยไปเวียดนามตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกโทรทัศน์และส่วนประกอบในเดือนพฤษภาคมลดลงถึง 11.3%YOY ด้านการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงที่หดตัวลง รวมไปถึงการขยายตัวของการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าคาดการณ์

ในขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกของไทยยังคงถูกกดดันจากการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันอย่าง น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกที่ในเดือนพฤษภาคมหดตัวลงต่อเนื่องที่ 24.6%YOY, 17.4%YOY และ 16.2%YOY ตามลำดับ เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วซึ่งราคาน้ำมันเข้าใกล้ระดับสูงสุด ในขณะที่ การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในเดือนพฤษภาคมขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.6%YOY จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่ยังสามารถขยายตัวได้ดี แต่ทว่าการส่งออกรถกระบะและรถบรรทุกกลับหดตัวลงกว่า 19.3%YOY จากการชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอรถกระบะรุ่นใหม่ซึ่งออกในปลายเดือนพฤษภาคม โดยอาจเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่กระทบการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบของไทย

ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น จากราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราในเดือนพฤษภาคมหดตัวน้อยลงที่ 14.4%YOY จากเมื่อไตรมาสแรกที่หดตัวกว่า 35%YOY โดยปัจจุบันราคายางพาราปรับขึ้นมาราว 10% ด้านมูลค่าการส่งออกข้าวปรับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 1.9%YOY อย่างไรก็ดี การส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังคงหดตัวรุนแรงกว่า 14.2%YOY ในเดือนพฤษภาคมหลังจากถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากสหภาพยุโรป อีกทั้งยังคงถูกกดดันเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายของไทย ส่งผลให้ในเดือนพฤษภาคมมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวลงราว 2.8%YOY

ขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน ในเดือนพฤษภาคมมูลค่าการส่งออกไปยังจีนขยายตัว 3.3%YOY ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 1.1%YOY โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ด้านการส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ 2.5%YOY แต่ทว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมกลับขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด โดยเพิ่มขึ้นเพียง 0.4%YOY จากเมื่อไตรมาสแรกที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวได้กว่า 5% ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปยังคงหดตัวตามเศรษฐกิจที่ชะลอลง โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวหดตัวลงอีก 4.1%YOY และ 13.7%YOY ตามลำดับ

มูลค่าการนำเข้าหดรุนแรงที่ 20%YOY เนื่องจากได้รับผลกระทบจากฐานราคาน้ำมันที่สูงเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงอีกกว่า 55%YOY ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบมูลค่ากับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้วซึ่งราคาน้ำมันเข้าใกล้ระดับสูงสุด ด้านการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวกว่า 8%YOY ตามอุปสงค์ตามการลงทุนภายในประเทศที่ชะลอตัว โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงราว 13%YOY ในขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าวัตถุดิบลดลง 2.6%YOY และ 14.5%YOY ตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีมูลค่าการนำเข้าลดลงกว่า 9.4%YOY ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคมส่งผลให้ไทยกลับมาเกินดุลการค้ากว่า 2,416.8 ล้านดอลลาร์ และส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยยังคงเกินดุลการค้าอยู่ที่ราว 3,322.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ