(เพิ่มเติม) ดัชนีเชื่อมั่นราคาทองคำก.ค.ฟื้นตัวได้ปัจจัยกรีซและบาทอ่อนช่วยหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 13, 2015 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกรกฎาคม 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากหดตัวติดต่อกัน 2 เดือน โดยค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 47.52 จุด เพิ่มขึ้น 4.41 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนมุมมองราคาทองคำในประเทศฟื้นตัวแต่ปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก โดยเชื่อว่าเดือนมิถุนายนราคาทองปรับตัวลงหนักส่งผลต่อแรงซื้อ ประกอบกับความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ทั้งกรณีหนี้กรีซและฟองสบู่ตลาดหุ้นจีนที่อาจจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดส่งให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่ม

ที่ผ่านมาเงินสกุลดอลลาร์และทองคำถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในการลงทุน แต่การแข็งค่าของดอลลาร์ที่เกิดจากเงินไหลเข้านั้นจะส่งผลให้ราคาทองปรับตัวลดลง แต่หากมีความเสี่ยงจากปัจจัยเดิมเพิ่มขึ้น หรือมีปัจจัยใหม่ที่กระทบการลงทุน นักลงทุนจะหันมาลงทุนในทองคำจากการมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นที่สอดคล้องกับกลุ่มผู้ค้าที่เชื่อมั่นเพิ่มขึ้น 17.31 จุด อยู่ที่ระดับ 66.60 จุด สะท้อนมุมมองเชิงบวกชัดเจน แนวทางเดียวกับกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าจะซื้อทองคำเพิ่มในช่วงเดือนกรกฎาคมถึง 40.18%

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้น 1.65 จุดมาอยู่ที่ระดับ 51.59 จุด สะท้อนความไม่แน่ใจในการฟื้นตัวของราคาทองคำในระยะกลาง โดยมีปัจจัยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ

สำหรับบทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนกรกฎาคม 2558 จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงเดือนมิถุนายน โดยมีผู้ค้า 1 ราย มองทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ผู้ค้า 7 ราย มองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน และผู้ค้า 1 ราย เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนกรกฎาคม

โดยผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,200-1,240 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,140-1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ(ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,000-19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,000-18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยทองคำยังได้จัดทำรายงานพิเศษเรื่องผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตหนี้กรีซ พบว่าที่ผ่านมามีผลกระทบเชิงลบผ่านการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่วนดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยมองทางออกกรีซเป็น 3 แนวทาง คือ กรณีเจ้าหนี้ผ่อนปรนเงื่อนไขรัดเข็มขัดและอนุมติเงินช่วยเหลือ กรณีที่สองการเจรจายืดเยื้อ กรณีที่สามเจ้าหนี้ปฏิเสธความช่วยเหลือและกรีซจำเป็นต้องออกจากกลุ่มยูโรโซน โดยในกรณีที่กรีซไม่ได้รับความช่วยเหลือ เชื่อว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย โดยน่าจะปรับตัวขึ้นได้เหนือระดับ 1,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

นายกมลธัญ กล่าวถึงกรณีกลุ่มเจ้าหนี้จะผ่อนปรนเงื่อนไขและอนุมัติเงินกู้รอบใหม่ให้กรีซ ซึ่งมีความเป็นไปได้จากท่าทีที่อ่อนลงของเจ้าหนี้หลังลงประชามติการให้เงินช่วยเหลือรอบใหม่หลังจากที่เงินช่วยเหลือรอบ 2 ที่หมดไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ถ้าออกมาในรูปแบบนี้จะทำให้กรีซสามารถมีเงินชำระหนี้ระยะสั้นและผ่านวิกฤตรายจ่ายในประเทศ แม้จะยังเผชิญสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนักจากความอ่อนแอในภาคธนาคารกลาง

ขณะที่ค่าเงินยูโรจะเริ่มฟื้นตัว รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปหลังจากที่อ่อนตัวลงเพราะความเสี่ยงกรีซ เม็ดเงินจะไหลกลับเข้ายุโรปอีกครั้ง ส่วนราคาทองคำจะกระทบเพียงเล็กน้อย โดยมองกรอบราคาทองคำจะอยู่ที่ 1,150-1,230 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ และราคาทองคำในประเทศจะอยู่ที่ 18,000-19,500 บาท/หนึ่งบาททองคำ

ส่วนแนวทางที่หากการเจรจายืดเยื้อ คือยังไม่สามารถหาข้อตกลง แต่เจ้าหนี้ยื่นข้อเสนอให้กรีซกลับไปปรับแผนเพื่อยื่นเสนอใหม่นั้น อาจสร้างความลำบากให้กับกรีซ เนื่องจากจะมีงบประมาณเหลือใช้อย่างจำกัด ความไม่แน่ใจแนวทางออกของกรีซจะส่งผลต่อการโยกย้ายเม็ดเงิน และทำให้ตลาดหุ้น รวมถึงระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่า และส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวแข็งค่า ตลาดหุ้นยุโรปและราคาน้ำมันดิบอ่อนตัว ส่วนราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย มองกรอบราคาทองคำจะอยู่ที่ 1,200-1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ และราคาทองคำในประเทศจะอยู่ที่ 18,500-19,500 บาท/หนึ่งบาททองคำ

ขณะที่เลวร้ายที่สุดหรือไม่สามารถเจรจาขอรับเงินช่วงเหลือได้ และกรีซต้องออกจากยูโรโซน เพื่อกลับไปใช้นโยบายทางการเงินของตัวเอง และกลับไปผลิตสกุลเงินแดรกมาเพื่อใช้ภายในประเทศนั้น แนวทางนี้อาจสร้างความผันผวนและผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งกับเจ้าหนี้และการโยกย้ายของนักลงทุน และค่าเงินยูโรจะปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างหนัก มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตทางการเงินในกรีซและยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สินในระดับสูง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย มองกรอบราคาทองคำจะอยู่ที่ 1,230-1,280 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ และราคาทองคำในประเทศจะอยู่ที่ 19,000-20,500 บาท/หนึ่งบาททองคำ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน ค่าดว่าจะตกลงราว 10-15% และตลาดหุ้นไทยก็จะตกลงราว 5-10% และเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่ามากกว่า 34 บาท/ดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยทองคำฯ คาดว่าแนวทางที่ 2 และ 3 น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากกรีซจะแบกรีบหนี้สินต่างๆ ได้ไปอีกไม่นาน ประกอบกับเจ้าหนี้จะไม่สามารถให้การช่วยเหลือกรีซไปได้ตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ