นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 34.73 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าต่อเนื่องจากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 34.64/66 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมีแรงซื้อดอลลาร์จากผู้ค้าทองคำในประเทศหลังราคาทองคำในตลาดโลกลดลง ขณะที่ดอลลาร์ยังแข็งค่าเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อคืนนี้ออกมาดี โดยเมื่อเวลา 09.15 น.เงินบาทอยู่ที่ระดับ 34.78 บาท/ดอลลาร์
"เช้านี้อ่อนค่าไปมากทำนิวไฮในรอบกว่า 6 ปี หลังราคาทองคำในตลาดโลกลดลง ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์จากผู้ค้าทองคำในประเทศเข้ามามาก" นักบริหารเงิน ระบุ
นักบริหารเงิน ประเมินทิศทางเงินบาทวันนี้ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยมองกรอบการเคลื่อนไหวไว้ระหว่าง 34.70-34.85 บาท/ดอลลาร์
"ทิศทางยังอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่หากบาทเข้าใกล้ 35.00 บาท/ดอลลาร์ น่าจะมีแรงเทขายดอลลาร์จากผู้ส่งออกเข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าว
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 124.05 จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 123.70/72 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0944 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.0931/0933 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 34.5620 บาท/ดอลลาร์
- แบงก์ชาติเผยเงินบาทอ่อนค่ากว่า 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนสุดรอบ 6 ปี เกิดจากปัจจัยภายนอกเป็นตัวชี้นำ แต่ยังสอดคล้องสกุลเงินภูมิภาค แถมค่าความผันผวนต่ำกว่า ย้ำดูแลไม่ให้ค่าความผันผวนเร็วเกินไป ห่วงผู้ประกอบการอาจจะปรับตัวไม่ทัน แบงก์ชี้บาทอ่อนอาจเกิดจากตลาดคาด กนง.ลดดอกเบี้ย
- ทิสโก้รับทั้งปีสินเชื่อยังหดตัวต่อเนื่อง จากครึ่งแรกที่หดตัว 5% หวังทั้งปีไม่ถึง 10% เหตุยอดขายรถยังชะลอตัว ลุ้นมาตรการเศรษฐกิจกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มครึ่งหลัง พร้อมยันครึ่งหลังไม่ต้องตั้งสำรองพิเศษเพิ่มแล้ว ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลทั้งปีดีขึ้น
- ผู้บริหารตลาดทุนระบุดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วง เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ย้ำชัดหากปรับคณะรัฐมนตรี ต้องสามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้ทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ "ก้องเกียรติ" คาดดัชนีสิ้นปีไม่หลุด 1,400 จุด
- พล.อ.ฉัตรชัยทบทวนปรับลดตัวเลขส่งออกทั้งปี จากเดิมโต 1.2% หลังเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นกระทบส่งออกส่ง 5 เดือน ติดลบแล้ว 4.2% ยังไม่ตอบถึงขั้นต้องติดลบอีกหรือไม่ รอผลวิเคราะห์ก่อน คาดสรุปปลายสัปดาห์ พร้อมเปิดแถลงยอด 6 เดือน 27 ก.ค.นี้
- นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สศช. ได้สรุปผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ในช่วง 3 ปีแรก (55-57) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทยมาตลอด ก็เริ่มมีสัญญาณต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวให้มีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 37.9% ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 เป็น 42.2% ในช่วง 3 ปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 แสดงให้เห็นว่า แม้จะอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง แต่ตัวเลขหนี้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการใช้มาตรการทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
- ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 3% ในวันนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ช้าลง และอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 0% โดยเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 6 สัปดาห์ หลังจากธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ลดการผลิตน้ำมัน โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.ย.ร่วงลง 1.67 ดอลลาร์ ปิดที่ 49.19 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน ก.ย.ที่ตลาดลอนดอน ลดลง 1.04 ดอลลาร์ ปิดที่ 56.00 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักส่วนใหญ่เมื่อคืนนี้ หลังจากยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐในเดือน มิ.ย.พุ่งขึ้นเกินคาด โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 1.0908 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 1.0943 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์เพิ่มขึ้นที่ 1.5602 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5553 ดอลลาร์สหรัฐ, ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเทียบกับสกุลเงินเยนที่ 124.07 เยน จาก 123.94 เยน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9611 ฟรังก์ จาก 0.9580 ฟรังก์, ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียปรับลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 0.7373 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7426 ดอลลาร์
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ โดยทองคำดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีและทำสถิติร่วงลงติดต่อกัน 10 วันทำการ เพราะได้รับปัจจัยลบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้กระแสคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยังคงสร้างแรงกดดันให้กับตลาดทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ส.ค.ร่วงลง 12 ดอลลาร์ หรือ 1.09% ปิดที่ระดับ 1,091.50 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนสัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือน ก.ย.ลดลง 5.5 เซนต์ หรือ 0.37% ปิดที่ 14.73 ดอลลาร์/ออนซ์ ขณะที่สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือน ต.ค.ร่วงลง 4.4 ดอลลาร์ หรือ 0.45% ปิดที่ 979.90 ดอลลาร์/ออนซ์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือน ก.ย.ลดลง 2.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 626.75 ดอลลาร์/ออนซ์